เครือข่ายการขนส่งสินค้าโดยใช้พาเลท หรือเครือข่ายพาเลท (Pallet Network) ถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในสหราชอาณาจักรในช่วงปี 1992 ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกแบบเต็มคันรถ (Full-Truck-Load หรือ FTL) เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าต้องการให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้พวกเขาพัฒนารูปแบบการบรรจุสินค้าบนพาเลทขึ้นมา เพื่อให้สามารถเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่งได้ทันเวลา และราบรื่น อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ผลิตต้องเผชิญก็คือการขนส่งแบบ FTL นั้นใช้เวลามากเกินไป เนื่องจากผู้ให้บริการส่งสินค้ามักจะรอให้มีสินค้ามากเพียงพอ จึงจะเริ่มดำเนินการขนส่ง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการขนส่งมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งด้วยรถบรรทุกกลุ่มหนึ่ง จึงได้เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวและสร้างเครือข่ายการขนส่งขึ้นมาโดยอ้างอิงเส้นทางการขนส่งของบริษัทผู้ผลิตสินค้าในสหราชอาณาจักร ด้วยหลักการ “แพ็คเสร็จเมื่อไหร่ ส่งให้ทันที (Built on Time – Delivered On Time)

เครือข่ายพาเลทคือกลุ่มของผู้ให้บริการขนส่งทางรถบรรทุกอิสระที่รวมตัวในฐานะสมาชิก ผู้ถือหุ้น หรือผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการขนส่งสินค้าที่คุ้มค่าแก่ผู้ส่งสินค้าทั่วประเทศ โดยรูปแบบธุรกิจเช่นนี้จะช่วยขจัดความล่าช้าต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการขนส่งและทำให้ผู้ให้บริการสามารถลดการลงทุนในทรัพย์สิน ซึ่งจะช่วยให้ค่าบริการถูกลง

ในขณะที่เครือข่ายพาเลทเติบโตอย่างเข้มแข็งในสหราชอาณาจักรและพื้นที่อื่นๆ ทั่วยุโรปมาตลอดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับประเทศไทย หรือพื้นที่อื่นๆ ในเอเชีย เครือข่ายพาเลทยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ทำให้การเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วไทยเข้าด้วยกันกลายเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และตอนนี้ เครือข่ายพาเลทในไทยก็พร้อมแล้วที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เครือข่ายพาเลทคืออะไร

นิตยสาร LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Dr. Anand Assi ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนจากสหราชอาณาจักรที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มากว่า 20 ปี ที่จะมาช่วยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของเครือข่ายพาเลท ว่าผู้ใช้งานคือใครกันบ้าง และเครือข่ายพาเลทจะมอบประโยชน์อะไรให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โดยภาพรวม

Dr Anand Assi, ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ สถาบัน JLL-Miebach Consulting

Dr. Assi ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ของสถาบัน JLL-Miebach Consulting เคยร่วมงานกับผู้ให้บริการเครือข่ายพาเลทรายใหญ่แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ทำให้เขาเป็นหนึ่งในสักขีพยานในยุคบุกเบิกของเครือข่ายพาเลท รวมไปถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วและวางรากฐานอย่างมั่นคงของภาคธุรกิจดังกล่าวในอุตสาหกรรมขนส่งและกระจายสินค้าในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

นอกเหนือจากความสำเร็จในด้านวิชาชีพแล้ว  Dr. Assi ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Fellow of the Chartered Institute of Logistics and Transport ซึ่งเป็นผู้นำในด้านการให้ความรู้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครือข่ายพาเลทมากที่สุดในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องเครือข่ายพาเลท Dr. Assi เชื่อว่า ทุกท่านต้องเข้าใจรูปแบบบริการ Less-Than-Truckload (LTL) ให้ถ่องแท้เสียก่อน เนื่องจากบริการดังกล่าวเป็นดั่งกระดูกสันหลังของบริการเครือข่ายพาเลท

“โดยพื้นฐานแล้ว การให้บริการรูปแบบ Less-Than-Truckload (LTL) หมายถึงบริการขนส่งสินค้าที่ผู้ให้บริการรวบรวมสินค้าของผู้ส่งสินค้าหลายเจ้าไว้ในรถบรรทุกคันเดียวกัน ข้อดีของรูปแบบธุรกิจนี้ คือลดค่าใช้จ่ายของผู้ส่งสินค้า ลองคิดภาพตามว่า หากท่านมีสินค้าจำนวนไม่มาก ท่านจะเหมารถบรรทุกทั้งคันเพื่อส่งสินค้านั้นหรือไม่ ดังนั้น สินค้าจำนวนไม่มากเหล่านั้น จึงถูกรวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดในรถบรรทุกหรือตู้สินค้าหนึ่งตู้ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด” Dr. Assi กล่าว

พาเลทไม้

พาเลทคืออะไร

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องกล่าวถึง เพื่อให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาแนวคิดเครือข่ายพาเลทมีความเข้าใจมากขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาที่มีความซับซ้อน คือการทำความเข้าใจว่าพาเลทคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญต่อรูปแบบการขนส่งนี้

“พาเลทคือแท่นวางสินค้าขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อให้การขนส่งหรือจัดเก็บสินค้ามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพาเลทจะถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานร่วมกับรถฟอร์คลิฟต์ (Forklift) ทำให้กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว แน่นอนว่าพาเลทมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านวัสดุ ขนาดของพาเลท จำนวนจุดยกของรถฟอร์คลิฟต์” Dr. Assi กล่าว

พาเลทมาตรฐานในอุตสาหกรรมมีขนาด  1.2 x 1 เมตร ซึ่งพาเลทที่มีจุดยกสองจุดเรียกว่า Stringer ขณะแบบที่มีสี่จุด เรียกว่า Block ซึ่งการมีจุดยกสี่จุด ทำให้รถฟอร์คลิฟต์สามารถเคลื่อนย้ายพาเลทจากทิศทางใดก็ได้ ส่งผลให้กระบวนการยกสินค้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น สำหรับวัสดุ พาเลทบางส่วนทำมาจากวัสดุจำพวกไม้ทั่วไป บางส่วนทำมาจากไม้ขึ้นรูปซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าไม้ทั่วไป สามารถรองรับน้ำหนักสินค้าได้สูงสุดกว่า 1,000 กิโลกรัม

How do Pallet Networks Work?

Dr. Assi “การที่ผู้ส่งสินค้าจำนวนมากเห็นประโยชน์ของการรวบรวมสินค้าเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง สะท้อนให้เห็นว่าการส่งสินค้าแบบ FTL ยังมีข้อเสียเปรียบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระยะการขนส่งที่นานกว่า รวมไปถึงค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าที่มากขึ้น จากการที่ต้องรอสินค้าให้เต็มคันรถ ดังนั้น แนวคิดของเครือข่ายพาเลทจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการHub and Spoke เพื่อสร้างระบบการกระจายสินค้าคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”

โมเดลหลักการ Hub and Spoke

ในการทำงานของเครือข่ายพาเลท ผู้ให้บริการรถบรรทุกซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายพาเลทจะมีพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ผู้ให้บริการฯ จะรวบรวมสินค้าในพื้นที่ของตนเองและนำไปส่งยังศูนย์กระจายสินค้าท้องถิ่น (Local Hub) จากนั้นสินค้าจะถูกรวบรวมอีกครั้ง และนำไปส่งยังศูนย์กระจายสินค้ากลางด้วยรถบรรทุกที่ใหญ่กว่า

ณ ศูนย์กระจายสินค้ากลาง สินค้าจากพื้นที่ต่างๆ จะถูกยกลงจากรถบรรทุก และจัดกลุ่มตามจุดหมายปลายทาง เมื่อการจัดกลุ่มเสร็จสมบูรณ์ สินค้าก็จะถูกส่งไปพร้อมกับรถบรรทุกที่มาจากศูนย์กระจากสินค้าท้องถิ่นนั้นๆ และนำส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

“การใช้หลักการ Hub and Spoke ทำให้เครือข่ายพาเลทสามารถมอบบริการขนส่งสินค้าที่ฉับไวในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งระยะไกล การขนส่งระยะกลาง หรือการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง ยิ่งไปกว่านั้น รูปแบบธุรกิจดังกล่าวยังทำให้การบริหารจัดการต้นทุนและพลังงาน เช่น น้ำมัน มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากรถบรรทุกของสมาชิกจะไม่มีการวิ่งรถเปล่ากลับจากจุดหมายปลายทางอีกต่อไป” Dr. Assi กล่าว

ประโยชน์ของเครือข่ายพาเลทคืออะไร

การส่งสินค้าผ่านเครือข่ายพาเลทช่วยให้ผู้ส่งสินค้าได้รับบริการที่มีราคาถูกลง โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุปกรณ์โลจิสติกส์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ยิ่งไปกว่านั้น เครือข่ายพาเลทสามารถมอบบริการขนส่งสินค้าถึงจุดหมายปลายทางในวันถัดไปได้ในเกือบทุกจุดหมายปลายทางทั่วประเทศ รวมถึงบริการขนส่งสินค้าในวันหยุดเช่นกัน

“โดยหลักการแล้ว สมาชิกของเครือข่ายพาเลทสามารถส่งสินค้าไปยังสถานที่ใดก็ได้ภายในประเทศภายในระยะเวลาไม่เกินสองวัน รวมทั้งมีการติดตั้งเทคโนโลยีการติดตามสินค้าเพื่อความอุ่นใจว่าสินค้าของผู้ส่งสินค้าจะปลอดภัยไปจนถึงจุดหมายปลายทาง” Dr. Assi กล่าว

Mr Uwe Dettmann

เครือข่ายพาเลทถือเป็นหนึ่งในรูปแบบที่มีการคิดค้นมาอย่างดี เนื่องจากสมาชิกของเครือข่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าพร้อมๆ กัน โดยสมาชิกจะสามารถใช้ประโยชน์เครือข่ายในการหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายธุรกิจของตนเองผ่านลูกค้าในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่สามารถกระจายความเสี่ยงและแบ่งปันผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายพาเลทยังมอบความโปร่งใสในธุรกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และราคาค่าบริการที่โปร่งใสทำให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น

คุณสุกัญญา ธรรมธาดา

สำหรับในประเทศไทย บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายพาเลท เช่นเดียวกับ บริษัทชื่อดังในสหราชอาณาจักรหรือยุโรป คือบริษัท เอเชีย พาเลท เอ็กซ์เพรส จำกัด หรือ APX ซึ่งก่อตั้งในปี 2020 โดย Mr. Uwe Dettmann และคุณสุกัญญา ธรรมธาดา

APX ให้บริการจับคู่ความต้องการระหว่างผู้ส่งสินค้าและผู้ให้บริการขนส่งสินค้า คล้ายกับแพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Grab, Uber หรือ Airbnb โดยผู้ส่งสินค้าสามารถใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นในการจัดการซัพพลายเชนผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเป็นอย่างดี เมื่อลูกค้าจองการขนส่งผ่านแพลตฟอร์มของ APX ระบบจะส่งผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเข้าไปรับสินค้ายังต้นทาง และขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ ตามหลักการ Hub and Spoke ที่ได้กล่าวถึงในขั้นต้น ซึ่งลูกค้าจะได้รับบริการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและประหยัดกว่าการขนส่งแบบเดิมๆ


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้SITC เปิดตัว Smart Depot Service ในมาเลเซีย
บทความถัดไปLEO จับมือวิสาหกิจชุมชนสุขฤทัยฯ สนับสนุนธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นกล้ากัญชา ต่อยอดธุรกิจ non-logistics
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way