IAPH พลิกโฉมองค์กรเพื่อรักษาบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

0
2622

ความสำเร็จในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นจากการเริ่มบรรจุสินค้าลงตู้สินค้าเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน นวัตกรรมดังกล่าวทำให้สามารถขนถ่ายสินค้าจากเรือไปยังรถบรรทุกหรือรถไฟได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น หลังจากนั้น อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศก็ปรับตัวตามแนวทางดังกล่าวด้วยการพัฒนาตู้บรรทุกสินค้าทางอากาศ (ULD) ขึ้นมา เครื่องมือง่ายๆ เหล่านี้ได้ทำให้เกิดธุรกิจและองค์กรต่างๆ ขึ้นมามากมาย รวมทั้งนำพาให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์โลกเดินทางมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น สมาคมโลจิสติกส์ก็ถือกำเนิดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่าสมาชิก หลักการของสมาคมนั้นเรียบง่าย นั่นคือการรวมกลุ่มธุรกิจ องค์กร และผู้คนที่มีจุดประสงค์เดียวกัน  เพื่อสร้างฐานเสียงที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมและเพิ่มอำนาจต่อรองทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก สมาคมต่างๆ จึงถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือล่มสลายไป ทาง LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Dr. Patrick Verhoeven กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประจำสมาคม International Association of Port and Harbors (IAPH) ซึ่งจากประสบการณ์การทำหน้าที่ในหลากหลายบทบาทภายในอุตสาหกรรม อาทิ ตัวแทนเรือ ตัวแทนเจ้าของเรือ และตัวแทนท่าเรือ เขาตระหนักดีว่าทิศทางของสมาคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง หากสมาคมยังต้องการดำรงบทบาทสำคัญในความสำเร็จของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

Aerial shot of an intermodal shipping yard in the Port of Long Beach, California.


Rebuilding

Dr. Verhoeven เริ่มต้นสายอาชีพด้วยการทำงานให้กับตัวแทนสายการเดินเรือ และคลุกคลีอยู่ในวงการมานาน “ผมทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มาเกือบทั้งชีวิตในฐานะตัวแทนการค้า ผมทำงานให้กับสถาบันในสหภาพยุโรปมาเกือบ 25 ปี โดยประจำอยู่ที่กรุง Brussels และตอนนี้ผมเป็นตัวแทนให้กับสมาชิกของสมาคมท่าเรือนานาชาติ หรือ ‘Intermational Association of Ports and Harbors’ (IAPH) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นทั้งการท่าเรือ ผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือ รวมไปถึงผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือด้วย

Dr. Patrick Verhoeven

องค์กรที่ Dr. Verhoeven ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยนับย้อนไปจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะมีการปฏิวัติการขนส่งสินค้าด้วยตู้สินค้า โดยในช่วงแรกพวกเขามุ่งไปที่การฟื้นฟูและการก่อสร้าง โดยเน้นไปในด้านของอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น และจำนวนของสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม Dr. Verhoeven ยอมรับว่า เมื่อทั้งโลกเชื่อมถึงกันมากขึ้น ความจำเป็นขององค์กรแบบดั้งเดิมและผลประโยชน์ที่มอบให้กับสมาชิกก็ค่อยๆ ลดลง

Dr. Verhoeven กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว สิ่งที่เราทำคือการจัดงานประชุมประจำปีและจัดทำนิตยสารให้กับสมาชิก ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาวิธีการเหล่านี้ได้ผล แต่เราไม่ค่อยมีวาระนโยบายหรือเป้าหมายที่จำเป็นต้องบรรลุสักเท่าไหร่ เรามีเพียงเครือข่ายองค์กรที่มีการแบ่งปันข้อมูลและหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นรูปแบบองค์กรที่โบราณมากๆ”

“จนกระทั่งอุตสาหกรรมเริ่มก้าวเข้ายุคมิลเลนเนียม เราสังเกตเห็นว่าจำนวนสมาชิกของเราค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วงสองสามปีก่อนทางคณะกรรมการบริหารจึงมีการประชุมและตัดสินใจว่า หากไม่ทำอะไรสักอย่าง องค์กรของเราคงต้องเลิกล้มไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจึงตัดสินใจปฏิรูปองค์กรในทุกระดับตั้งแต่บนลงล่าง รวมทั้งวิธีการบริหารและการตัดสินใจ รูปแบบการบริหารจัดการที่เรียบง่ายขึ้นทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว พวกเราสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ผมดำรงอยู่ เรามีเลขาธิการประจำอยู่ที่กรุงโตเกียว คอยจัดการเรื่องการเงินและงานธุรการต่างๆ ส่วนตำแหน่งของผมนั้นจะเป็นตัวแทนขององค์กร นั่นหมายรวมถึงการเฟ้นหาสมาชิกใหม่ๆ และการติดต่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ ด้วย”

ในขณะที่มีการปฏิรูปภายใน IAPH ก็พยายามเปลี่ยนแปลงบริการที่มอบให้กับสมาชิก โดยนอกเหนือจากบริการเดิม ก็มีการมอบเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ ให้กับสมาชิก ซึ่ง Dr. Verhoeven กล่าวว่า พวกเขามีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาหลายชิ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เป้าหมายสำคัญที่สุดของพวกเขาคือการประสานความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมโดยรวม

“ในช่วงแรกเราพิจารณาจากกรอบนโยบายของสหประชาชาติ ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ถึง 17 รายการ เดิมนั้นเป้าหมายดังกล่าวพัฒนาขึ้นมาเพื่อองค์กรภาครัฐ แต่องค์กรในอุตสาหกรรมของเราก็สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน เราจึงริเริ่มโครงการ IAPH World Ports Sustainability Program ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในระยะที่มุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพียงอย่างประการเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบพลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย การสานสัมพันธ์กับชุมชนและการบริหารจัดการภายในท่าเรือ สิ่งที่เราทำคือเราได้เชิญชวนให้สมาชิกเข้ามาร่วมแบ่งปันโครงการต่างๆ ที่มีการดำเนินการอยู่ โดยการแชร์ผลงานบนแฟ้มประวัติการดำเนินงานแบบออนไลน์ ซึ่งตอนนี้เรามีประมาณ 100 โครงการ และเราก็ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในการแนะนำวิธีการจัดการกับประเด็นต่างๆ ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกของเรา”

Dr. Verhoeven ยังอธิบายต่อว่า “นอกจากนี้ เรายังมีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับท่าเรือสำหรับใช้ประเมินผลกระทบด้านมลภาวะที่เกิดจากการเข้าเทียบท่าของเรือ อาทิ ดัชนีประเมินสภาพแวดล้อมของเรือ (Environmental Ship Index)​ หรือ (ESI) ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินได้ว่าเรือที่กำลังจะเข้ามายังท่าเรือ มีการปล่อยมลภาวะมากแค่ไหน หากคะแนนเป็นศูนย์ แสดงว่าเรือแล่นภายใต้ข้อกำหนดการรักษาสภาพแวดล้อม ยิ่งได้คะแนนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรักษาสภาพแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งคะแนนดังกล่าว ท่าเรืออาจนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการมอบสิทธิพิเศษบางอย่าง นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องมือสำหรับการประเมินตัวเองในแผนของเรา ซึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ UN โดยขึ้นอยู่กับขนาดของท่าเรือ และประเภทขององค์กรการบริหารจัดการท่าเรือที่ต้องการยกระดับการปฏิบัติการของพวกเขา”


Expanding Membership

แม้การคิดค้นเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ จะเป็นเรื่องจำเป็น แต่การขยายฐานสมาชิกก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ปัจจุบันสมาคม IAPH มีสมาชิกสองประเภท ประเภทแรกคือสมาชิกแบบดั้งเดิม ได้แก่องค์กรผู้บริหารจัดการท่าเรือต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วท่าเรือมักเป็นองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรในสังกัดเทศบาลของเมืองต่างๆ และบางแห่งก็มีการปฏิบัติการท่าเทียบเรือของตัวเอง ส่วนสมาชิกประเภทที่สองคือสมาชิกสมทบ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ให้บริการยกขนสินค้าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของท่าเรือ ก็สามารถเป็นสมาชิกได้เช่นกัน

Dr. Verhoeven อธิบายว่า “สมาชิกแบบปกติคือหน่วยงานที่บริหารจัดการท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาลก็ได้ ปัจจุบันเรามีท่าเรือประมาณ 170 แห่งในหกภูมิภาคเป็นสมาชิก ส่วนสมาชิกแบบสมบทนั้นเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ อย่างเช่น บริษัทผู้ให้บริการยกขนสินค้า ผู้ผลิตอุปกรณ์ มหาวิทยาลัย บริษัทที่ปรึกษา และซัพพลายเออร์ต่างๆ เราต้องการต้อนรับสมาชิกใหม่ๆ และเราอยากให้บริษัทต่างๆ เข้ามาเป็นสมาชิกของเรา”

สมาคมอย่าง IAPH เปิดโอกาสให้ธุรกิจทุกประเภทไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สามารถเป็นสมาชิกสมาคมและสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา การแบ่งปันข้อมูลอย่างเสรีก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน และเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนที่กำลังจะมาถึง ก็ต้องการความเชื่อถือระหว่างองค์กรเป็นอย่างมาก ซึ่งการเป็นสมาชิกสมาคมสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจในส่วนนี้ได้

Dr. Verhoeven กล่าวว่า “องค์กรของเรากำลังผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น แม้แต่เทคโนโลยีการสื่อสารที่เรียบง่ายอย่างการติดต่อระหว่างท่าเรือกับเรือ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการเข้าเทียบท่าเรือที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง แม้การเข้าเทียบท่าให้ตรงกำหนดการจะช่วยลดการใช้พลังงานและมลภาวะ แต่ก็เป็นกระบวนการอันซับซ้อนที่ต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หากเรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้น เราจะสามารถลดช่วงเวลาระหว่างรอเรือเทียบท่าได้ คำถามคือ ยังมีผู้คนมากมายขนาดไหนที่ยังเก็บข้อมูลของตัวเองไว้โดยไม่แบ่งปันผู้อื่น พวกเขาอาจมีเหตุผลของตนเอง แต่สายการเดินเรือทั้งหลายจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งปัจจุบันการแบ่งปันข้อมูลได้รับการดูแลจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ด้วยการกำหนดมาตรฐานว่าข้อมูลใดที่ควรแบ่งปัน และแบ่งปันด้วยวิธีใด นวัตกรรมและการพัฒนาเหล่านี้คือทิศทางที่เรากำลังมุ่งไป และเป็นสิ่งที่องค์กรของเราให้ความสำคัญ”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้BMTP ก้าวสู่อนาคตด้วยอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย บริการที่เหนือระดับ และความสามัคคีภายในองค์กร
บทความถัดไปBTL มอบบริการขนส่งตู้สินค้าโดยรถไฟ แหลมฉบัง-สปป.ลาว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way