BMTP ก้าวสู่อนาคตด้วยอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย บริการที่เหนือระดับ และความสามัคคีภายในองค์กร

0
7209

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจขนส่งสินค้าทางน้ำ ในช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่าเรือ BMTP มีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นคุณภาพ และความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานให้โดดเด่น พร้อมบริการคุณภาพที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

ณ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ท่าเรือ BMTP ตั้งอยู่บริเวณทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกทั้งจากในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ท่าเรือฯ เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท PIL Enterprise และ Eastern Maritime เปิดให้บริการแก่สายการเดินเรือชั้นนำอาทิ Samudera, OOCL, Cosco, ONE, CMA/APL, Hyundai และ Maersk Line เป็นต้น ด้วยพื้นที่การปฏิบัติการของ BMTP ที่กว้างใหญ่กว่า 140 ไร่ พร้อมท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ความยาวหน้าท่า 315 เมตร ซึ่งสามารถเทียบเรือที่มีความยาว 155 เมตรได้ถึงสองลำ

BMTP มีทีมงานที่เพียบพร้อมไปด้วยประสบ-การณ์การทำงานกว่า 30 ปี ด้วยหัวใจการทำงานที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมและมีคุณภาพ ซึ่งส่งเสริมศักยภาพของท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ การทำงานจึงเที่ยงตรงต่อเวลา ทั้งยังพร้อมให้บริการเมื่อเรือเข้า-ออกท่าได้ตามกำหนดเวลา ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรยกขนสินค้าที่มีคุณภาพและทันสมัย

นิตยสาร LM ฉบับนี้ มีโอกาสพูดคุยกับ คุณรังสรรค์ ต้นชนะชัย ผู้จัดการทั่วไป ท่าเรือ BMTP และทีมงาน ถึงพัฒนาการ วิธีปฏิบัติงาน เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ บริการที่ครบครันรวมถึงวิสัยทัศน์การบริหาร และคุณสมบัติที่ทำให้ BMTP โดดเด่นเหนือใคร ในฝั่งพระประแดง และพระสมุทรเจดีย์

More Than Just a Port

คุณรังสรรค์ ต้นชนะชัย ผู้จัดการทั่วไปของ BMTP

จากประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานกว่า 30 ปี ด้วยความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการให้บริการท่าเรือ BMTP เป็นท่าเรือที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร ทั้งบริการคลังสินค้าขนาดพื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร และลานบรรจุตู้สินค้าที่สามารถบรรจุตู้ได้ถึง 230 ทีอียู ต่อวัน ท่าเรือ BMTP มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดูแลการจัดเก็บสินค้าอันตราย ในคลังสินค้าที่มีระบบรักษาความปลอดภัยระดับสูง เสริมด้วยบริการภาคพื้นดินอย่างกองรถบรรทุกหัวลากจำนวน 45 คัน และยังมีบริการดำเนินพิธีการศุลกากร พร้อมชำระค่าภาษีนำเข้าที่สำนักงานศุลกากรภายในสถานที่อีกด้วย

“เราสามารถตอบคำถาม และตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี เนื่องจากผมมีประสบการณ์กว่า 20 ปีในบริษัทสายการเดินเรือ ทำให้สามารถแนะนำและแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างถูกต้อง” จากผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือ จนกระทั่งกลายมาเป็นผู้ให้บริการด้วยตัวเอง คุณรังสรรค์กล่าวถึงคุณสมบัติอันโดดเด่นประการแรกของท่าเรือฯ นั่นก็คือบริการที่ครบวงจรและความใส่ใจความต้องการของลูกค้า

“อย่างหนึ่งสิ่งที่เราเข้าใจสายการเดินเรือเป็นอย่างดีก็คือ เรื่องของระยะเวลาที่เรือเทียบท่า (Berth Time) เพราะเราจะเตรียมการให้เรือของลูกค้าสามารถเทียบท่าแล้วยกขนสินค้าได้ทันที ทำให้เรือขนส่งสินค้าสามารถออกเดินทางไปยังที่หมายถัดไปได้ตรงตามกำหนดเวลา เราพยายามประสานความต้องการของทุกฝ่ายให้สอดคล้องกัน ทั้งลูกค้าผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และสายการเดินเรือด้วย” คุณรังสรรค์เน้นย้ำถึงบริการของ BMTP

ท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพฯ เพียงไม่ถึง 25 กม. ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมบริการให้ดียิ่งขึ้น ด้วยปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพทั้งหน้าท่าและหลังท่า กล่าวคือ ในปัจจุบัน BMTP มีศักยภาพในการยกขนตู้สินค้าได้มากกว่า 40 ตู้ต่อชั่วโมงโดยโมบายเครนสองตัว อีกทั้งยังพร้อมปฏิบัติการหน้าท่าทันทีที่เรือมาถึง และทำงานได้ทันเวลาเพื่อให้เรือออกได้ตรงเวลา โดย คุณสมชาย กลิ่นเขียว ผู้จัดการท่าเทียบเรือ กล่าวถึงศักยภาพในการปฎิบัติงานของท่าเรือฯ ว่า

คุณสมชาย กลิ่นเขียว ผู้จัดการท่าเทียบเรือของ BMTP

“ปัจจุบันนี้ ประสิทธิภาพการทำงานของท่าเทียบเรือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสายการเดินเรือ ซึ่งทางเราได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมให้เรือขนส่งสินค้าเข้าเทียบท่าได้ตามกำหนดเวลา เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานและประหยัดเวลาดำเนินงานของเรือ เพื่อลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงอันเป็นค่าใช้จ่ายหลักของสายเรือ” และยังกล่าวอีกว่า

“เราปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้มีเรือจอดท่าสั้นที่สุด ระดับน้ำขึ้นน้ำลง เป็นเรื่องสำคัญมาก หากเราปฏิบัติงานไม่เสร็จทันเวลา ก็ต้องรอจนกว่าน้ำจะขึ้นอีกรอบ ซึ่งเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ เราจึงปรับปรุงประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าจนได้มากกว่า 40 ตู้ต่อชั่วโมงในปัจจุบัน และมีแผนที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นอีกในเร็วๆ นี้”

คุณรังสรรค์มองว่า ตลาดการขนส่งเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย กล่าวคือลูกค้ากระจายตัวและมีความต้องการที่แตกต่าง ปัจจุบันสายการเดินเรือปรับเปลี่ยนมาใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ปลายทางสินค้า ซึ่งเป็นทางเลือกในการขนส่งของผู้ส่งสินค้าลดลง ในกรณีนี้ ท่าเรือ BMTP สามารถช่วยลดช่องว่างได้ โดยสายการเดินเรือที่ใช้เรือขนาดใหญ่สามารถเลือกเข้าเพียงท่าเรือใหญ่ เช่น สิงค-โปร์ จากนั้นสินค้าสามารถขนส่งโดยเรือถ่ายลำสินค้า (Feeder) มายังท่าเรือ BMTP ได้โดยตรง

ส่วนเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ปานกลางก็สามารถเข้าเทียบท่าที่แหลมฉบังแล้วขนส่งต่อด้วยเรือชายฝั่งมายังท่าเรือ BMTP ได้เช่นกัน สำหรับบริการเส้นทางสั้นๆ ที่ใช้เรือขนาดไม่เกิน Bangkok max สายการเดินเรือสามารถเลือกเข้าท่าโดยตรงที่ BMTP เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการย้ายตู้ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ลดเวลาในการรอเข้าเทียบท่า นอกจากนี้ การขนส่งทางน้ำยังลดมลภาวะ ลดความแออัดของการจราจร และลดความสิ้นเปลืองของงบประมาณในการซ่อมแซมถนนหรือสร้างถนนใหม่

BMTP ยังให้ความสำคัญในคุณภาพการบริการทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วยการอบรมความรู้แก่พนักงานขับรถในด้านการขับขี่อย่างปลอดภัยเป็นประจำทุกปี เพื่อให้พนักงาน
ทุกคนตระหนักถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยบนท้องถนน อีกทั้งยังมีความเข้มงวดในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ปฏิบัติงานทั้งภายในและภาย นอกทุกครั้ง และต้องมีผลเป็นศูนย์ทั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน เพื่อลดอุบัติเหตุ พร้อมกับรักษาภาพลักษณ์อันดีของบริษัท

Services for the Future

BMTP มีระบบบริหารจัดการตู้สินค้าที่ทันสมัย ด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่แผนกไอทีพัฒนาขึ้นเองภายใน เพื่อช่วยจัดการสินค้า เช่น ลานตู้สินค้าที่ใช้เครนยกตู้สินค้าแบบล้อยาง (เครน RTG) มีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารตำแหน่งการจัดวางตู้สินค้าเพื่อความสะดวกในการรับส่ง ซึ่งเป็นจุดแข็งและคุณสมบัติที่สร้างความโดดเด่นเป็นประการที่สองของท่าเรือฯ

“จุดแข็งของเราก็คือ เรามีทีมงานที่พัฒนาโปรแกรมระบบปฏิบัติงานของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ซื้อระบบปฏิบัติงานของที่อื่นมาใช้ เพราะฉะนั้น เราสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมด เมื่อมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาที่ท่าเรือฯ ทางเราก็จะปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้สอดคล้องกับอุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าให้มากที่สุด” คุณพรพิมล ภาสุระธีระ ผู้จัดการฝ่าย IT ของท่าเรือฯ กล่าวถึงซอฟต์แวร์ปฎิบัติการที่ล้ำสมัยของ BMTP

คุณพรพิมล ภาสุระธีระ ผู้จัดการฝ่าย IT ของ BMTP

ณ เวลานี้ ระบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาคือ ระบบการใช้งานเครน RTG ซึ่งควบคุมด้วยแท็บเล็ต โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุมระหว่างออฟฟิศและตัวเครื่องได้อย่างสะดวกสบายแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบ Mobile Tracking ที่ติดตั้งบนรถหัวลากทุกคัน ผู้ใช้งานจึงสามารถตรวจสอบข้อมูลของตู้สินค้าได้อย่างละเอียด ทั้งประเภทตู้สินค้า ตำแหน่งของตู้สินค้า และพิกัดรับ-ส่งตู้สินค้าที่เครื่องยกสินค้าหมายเลขใด

การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งอีกประการของ BMTP ก็คือ ห้องช่างหรือแผนกวิศวกรรมที่สร้างขึ้นใหม่ พร้อมอะไหล่สำรองที่ครบครันและล้ำสมัยที่สุด ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมปฏิบัติงาน “ห้องช่างนี้จะมีความพร้อมในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะธุรกิจของเรามีการใช้เครื่องมือจำนวนมาก ตั้งแต่เครนยกขนตู้สินค้าหน้าท่า, เครน RTG, รถยกตู้สินค้า, รถฟอร์คลิฟต์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 10 ตัน, 3 ตัน ถึง 2 ตัน และยังมีรถฟอร์คลิฟต์ไฟฟ้า ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และต้องสามารถแก้ไขและซ่อมแซมได้ทันที ในกรณีที่เกิดขัดข้อง” คุณรังสรรค์กล่าว

“เรามีการสำรองอะไหล่สำคัญเก็บเอาไว้ พร้อม กับทีมซ่อมบำรุงที่พร้อมทำงานในกรณีที่อุปกรณ์ชำรุด ในเดือนที่ผ่านมาเรามีการสำรองอะไหล่ของเครนยกขนสินค้ามูลค่ากว่าสามล้านบาท ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าเรามีเครื่องมือพร้อมใช้งาน นอกจากนี้ เรายังเลือกใช้แต่อุปกรณ์และอะไหล่คุณภาพสูง เช่น โมบายเครนของ Liebherr จากเยอรมัน และเครน RTG ของ Kalmar จากสวีเดน” คุณรังสรรค์เผยถึงกลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

Together As One

ความสามัคคีและประสบการณ์การให้บริการที่ยาวนานกว่า 30 ปี คือคุณสมบัติที่โดดเด่นที่ทำให้ BMTP มีความแตกต่างจากท่าเรืออื่น ด้วยปรัชญาการทำงานที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษามาตรฐานเครื่องมือหรือการให้บริการ “เราอยากให้คนและเครื่องจักรทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน ผมชอบสปิริตของสไตล์ Total Football Team ที่ผู้เล่นทุกคนมีตำแหน่งของตัวเอง แต่ก็พร้อมที่จะทำทุกหน้าที่ในทุกตำแหน่งเพื่อชัยชนะของทีม กองหน้าพร้อมที่จะเป็นกองหลัง กองหลังพร้อมที่จะเป็นกองกลาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ทีมมีศักยภาพสูงสุด เรายังมีผู้ถือหุ้นที่มีวิสัยทัศน์ ให้การสนับสนุนในเรื่องของการเงิน ทำให้เราเป็นท่าเรือที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร”

คุณรังสรรค์เปิดเผยแนวทางการบริหารองค์กรโดยดูแลพนักงานเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว และกล่าวถึงแผนการให้บริการในภายภาคหน้าของ BMTP ว่า “ในอนาคตเรายังมีแผนที่จะจัดหาเครนและเครื่องจักรที่ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่สูงขึ้นไปอีก และจะมีการติดตั้งเครื่องเอ็กซ์เรย์ พร้อมพัฒนากองเรือบาร์จให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในวันหน้า นอก จากนี้ เรายังมีนโยบายในการขยายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ของเรายังกว้างขวางพอที่จะรองรับการเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์”

แผนการดังกล่าว คือการเดินหน้าเพื่อเป้าหมาย ขององค์กรในการเป็นผู้ให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกคน รวมถึงผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ต้องการใช้พื้นที่คลังสินค้า ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่เข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้แก่การปฏิบัติการโลจิสติกส์ของคนไทย รวมทั้งการให้บริการลูกค้าที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและส่งออก รวมไปถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกที่สูงขึ้น

ทำเลที่ตั้งของ BMTP ยังส่งเสริมให้ท่าเรือฯ ขยายบริการสู่ลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากลูกค้าในตัวเมืองกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ สามารถเข้าถึงท่าเรือได้อย่างง่ายดายผ่านถนนวงแหวนรอบนอก โดยที่ไม่จำเป็นต้องฝ่าจราจร
อันคับคั่งในใจกลางเมือง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านเวลาที่รถเทรลเลอร์สามารถปฏิบัติการได้อีกด้วย โดยคุณรังสรรค์ได้ชี้แจงว่า “เราอยู่ใกล้ถนนวงแหวนรอบนอกมาก ซึ่งสะดวกต่อการเดินทาง และวงแหวนรอบใหม่ที่กำลังจะเริ่มสร้างก็อยู่ใกล้กับเรามาก ลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยกับทำเลที่ตั้งของเรามักมีความกังวลว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลากตู้สูงขึ้น แต่เมื่อได้ลองลากตู้เข้ามาจริงๆ ก็จะพบว่าไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นๆ เลย” คุณรังสรรค์ชี้แจง พร้อมเน้นว่าอัตราค่าบริการลากตู้สินค้ามายังท่าเรือฯ นั้น ก็อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้อย่างทัดเทียมอีกด้วย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การบริหารที่ใส่ใจคนในองค์กร เสริมด้วยชัยภูมิที่ดี สะดวกต่อการเดินทาง พร้อมกับบริการที่ครอบคลุมในทุกระดับ ช่วยให้ BMTP สามารถประสานงานกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด และก้าวเดินสู่อนาคตภายใต้อุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง “BMTP พร้อมที่จะก้าวสู่อนาคตเคียงข้างลูกค้าทุกคนเสมอ” คุณรังสรรค์กล่าวปิดท้ายถึงองค์กรที่ให้บริการมากกว่าท่าเรือ

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL สร้างสรรค์ประสบการณ์โลจิสติกส์ที่ใช้งานง่ายผ่านระบบออนไลน์ ‘myDHLi Quote & Book’
บทความถัดไปIAPH พลิกโฉมองค์กรเพื่อรักษาบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์