ท่าเรือกรุงเทพเป็นหนึ่งในต้นทาง/ปลายทางสำคัญสำหรับการส่งออก–นำเข้าตู้สินค้าจากและมายังประเทศไทยสำหรับสายการเดินเรือหลักหลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้ปริมาณการนำเข้า–ส่งออกตู้สินค้าของสายการเดินเรือยังคงมีการปฏิบัติการขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือในแม่เจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติการโลจิสติกส์มากยิ่งขึ้น

โดยล่าสุดบริษัท Sahathai Terminal ได้จับมือการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ระดับสากล ณ ท่าเรือกรุงเทพ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘การส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าผ่านเรือลำเลียงและกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ’ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

LM มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณมินทร์รวี โพธิ์ดี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท Sahathai Terminal เกี่ยวกับแนวความคิดและวัตถุประสงค์หลักของการร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อยกระดับกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าของไทยในครั้งนี้

Sahathai Terminal (Sahathai) ผู้ให้บริการขนส่งทางแม่น้ำแบบครบวงจรระดับแนวหน้าของประเทศไทย ได้จับมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะพันธมิตรที่สำคัญในการร่วมผลักดันท่าเรือกรุงเทพให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าผ่านเรือลำเลียง โดยอาศัยความโดดเด่นของ Sahathai ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าเรือต่างประเทศและผู้นำการขนส่งสินค้าผ่านเรือชายฝั่งที่มีความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าปริมาณมากด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติการนำเข้าตู้สินค้าของท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเสริมศักยภาพการขนส่งตู้สินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับความต้องการด้านการนำเข้าสินค้าทางเรือมายังเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมากขึ้น

คุณมินทร์รวี กล่าวถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาการขนส่งทางแม่น้ำครั้งนี้ว่า “การลงนาม MOU ร่วมกับการท่าเรือฯ นับเป็นเกียรติแก่ Sahathai Terminal อย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการนำจุดเด่นของทั้งสองหน่วยงานมาร่วมกันให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาการขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีมาตรฐานระดับสากลยิ่งขึ้น เนื่องจากท่าเรือกรุงเทพถือเป็นท่าเรือเป็นเกตเวย์หลักของไทยในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามาอย่างยาวนาน ขณะที่ Sahathai Terminal เองก็เป็นท่าเทียบเรือแม่น้ำเอกชนที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถรองรับเรือถ่ายลำ (Feeder) ขนาด Bangkok Max ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal) และทีมงานที่พร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกค้าและคู่ค้าให้เติบโตยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ การลงนาม MOU ดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการท่าเรือพันธมิตร (Chao Phraya Super Port Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าของสายการเดินเรือต่างๆ ที่ต้องการเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ Sahathai Terminal จะมีบทบาทเป็นอีกหนึ่งท่าเทียบเรือทางเลือกในการขนถ่ายตู้สินค้าขาออก–ขาเข้า สำหรับสายการเดินเรือที่ต้องการนำเข้าตู้สินค้าและมีความประสงค์ในการดำเนินการพิธีทางศุลกากรที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยสายการเดินเรือสามารถขนถ่ายสินค้าลงที่ท่าเรือ Sahathai Terminal และทางบริษัทฯ จะดำเนินการขนส่งตู้สินค้าด้วยเรือชายฝั่งไปยังท่าเรือกรุงเทพภายใน 24 ชม. ในทำนองเดียวกัน Sahathai Terminal จะทำหน้าที่เสมือนจุดพักตู้สินค้า (Hub) ให้แก่ท่าเรือกรุงเทพด้วย นอกจากความร่วมมือทางธุรกิจแล้ว โครงการนี้ยังมีเป้าหมายในการมอบโซลูชันเพิ่มเติมแก่ผู้นำเข้าตู้สินค้าให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งของผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้ได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว

คุณเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ ​คุณมินทร์รวี โพธิ์ดี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท Sahathai Terminal

ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโซลูชันการบริหารปริมาณตู้สินค้าขาเข้ามายังกรุงเทพฯ ของสายการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านความไม่สมดุลของตู้สินค้าขาออกที่มีมากกว่าตู้สินค้าขาเข้า หรือในบางครั้งปริมาณตู้ขาเข้าที่น้อยลง จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง รวมถึงการแข่งขันอย่างหนักของสายการเดินเรือจึงทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะยกเลิกการนำเรือเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา หรือนำเรือเข้าเทียบที่ท่าเรือน้ำลึกที่อื่น หลังจากนั้นจึงใช้บริการขนส่งทางบกหรือเรือชายฝั่ง เพื่อขนส่งสินค้ามายังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น โครงการนำร่องนี้จึงริเริ่มขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนลูกค้ากลุ่มนี้ โดยผลจากความร่วมมือใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้สายการเดินเรือสามารถเข้าเทียบท่าเรือของ Sahathai Terminal ทำให้สายการเดินเรือสามารถบริหารจัดการปริมาณตู้สินค้าได้ทั้งท่าเรือเอกชนและท่าเรือกรุงเทพ เพื่อบริหารต้นทุนให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ในทางเดียวกัน สายการเดินเรือที่ต้องการความร่นระยะการรอคอยในการขนส่งสินค้าเข้าไปยังท่าเรือกรุงเทพก็สามารถเลือกเข้าท่าเรือของ Sahathai Terminal เพื่อให้ทางบริษัทฯ เป็นผู้บริหารปริมาณตู้สินค้าแทนได้เช่นเดียวกัน

“เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น เดิมทีการนำเรือชายฝั่งจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือในเขตศรีราชานั้นใช้ระยะเวลาสามถึงห้าวัน เมื่อเทียบกับการเข้าเทียบท่าเรือที่ Sahathai Terminal บริษัทฯ สามารถขนส่งตู้สินค้าขาเข้าโดยเรือชายฝั่งปริมาณ 300 ตู้ต่อวันไปยังท่าเรือกรุงเทพ และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากที่ตั้งของท่าเรือสหไทยไปยังท่าเรือ 20G อยู่ไม่ไกลมากนัก และใช้ระยะเวลาเดินเรือเพียงหนึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่กระบวนการด้านเอกสารไปจนถึงการปฏิบัติการขนส่งสินค้า โดยปราศจากอุปสรรคด้านเวลาและต้นทุน” คุณมินทร์รวี กล่าว

ทั้งนี้ โซลูชันการขนส่งใหม่นี้สามารถนำเสนอสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ถึงสามประการคือ ระยะเวลาการขนส่งที่รวดเร็วมากขึ้น ทำให้สินค้าเข้าสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น ประการที่สองคือ ค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า และประการสุดท้าย คือ Sahathai Terminal สามารถบริหารจัดการขนส่งตู้สินค้าโดยไม่มีการจำกัดปริมาณขั้นต่ำ เนื่องจากบริษัทฯ มีกองเรือชายฝั่ง (Barge) ที่พร้อมให้บริการเป็นของตนเอง บริษัท Sahathai Terminal จึงเชื่อมั่นว่าโซลูชันใหม่นี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางแม่น้ำของประเทศไทยสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนและราบรื่น

“Sahathai Terminal มีความมุ่งมั่นในการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่าโครงการท่าเรือพันธมิตรนี้จะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมการขนส่งตู้สินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าตู้สินค้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ Sahathai Terminal ได้มีการศึกษา ทดลองรองรับและขนส่งตู้สินค้าขาเข้าให้แก่ท่าเรือกรุงเทพไปแล้วมากว่า 10,000 ตู้ตลอดทั้งปี 2023 และได้ตอบรับจากผู้ใช้บริการเป็นที่น่าพึงพอใจและทำได้จริง จนนำมาสู่การลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้” คุณมินทร์รวี กล่าว


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ท่าเรือ Tanjung Pelepas จัดซื้อเครน RTG ไฟฟ้าเพิ่ม 48 คัน
บทความถัดไปZIM เปิดตัวบริการ ZPX เชื่อมต่อเอเชีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา