ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ท่านอาจได้เห็นข่าว LEO Global Logistics เดินหน้าจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพันธมิตรกับ China Post รัฐวิสาหกิจชั้นนำจากประเทศจีน เพื่อขยายความร่วมมือในการขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ระหว่างไทยและจีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การสร้างความร่วมมือกับ SENA Development บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เพื่อพัฒนาโครงการ Self-Storage แห่งที่สาม รวมไปถึงการลงทุนร่วมกับ Nexter Ventures เพื่อยกระดับกระบวนการ Digital Transformation และต่อยอดธุรกิจของทั้งสองบริษัท

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า LEO Global Logistics กำลังวางแผนขยายธุรกิจและขอบข่ายการให้บริการ ผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อยกระดับความครบวงจรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกขั้น

นิตยสาร LM ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LEO เกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมทั้งเป้าหมายของบริษัทฯ จากความร่วมมือเหล่านี้

The Beginning

สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การหยุดนิ่งอยู่กับที่อาจสามารถเปรียบได้กับก้าวถอยหลัง ดังนั้น LEO จึงพยายามมองหาแนวทางที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

คุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO Global Logistics

คุณเกตติวิทย์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร (End-to-End Logistics Service Provider) LEO จึงจำเป็นต้องมองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถมอบบริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้า ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้มองหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) และ พันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ทั้งภายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และนอกอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับต่อยอดธุรกิจของเราทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

“การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ จะช่วยให้เราเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยนำจุดแข็งของแต่ละบริษัทมาพัฒนาธุรกิจและสร้าง Synergy (การผสานพลัง) ร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการสร้าง Synergy ร่วมกันจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่ 1+1 = 2  แต่จะเป็น 3 หรือ 4 หรือ 5 และช่วยให้ LEO ขยายขอบเขตของธุรกิจและการบริการได้มากขึ้น รวมถึงมีฐานของลูกค้าใหม่ได้หลากหลายมากขึ้น  สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ LEO มุ่งเน้นไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร นอกจากนี้การเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ทำให้ LEO มีความสามารถทางการแข่งขันและความแตกต่างตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) ที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งในเรื่องของต้นทุนและความเชี่ยวชาญที่ได้รับจากพันธมิตร ทำให้บริษัทฯ สามารถมีความยืดหยุ่นในด้านราคาค่าบริการและสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น”

Finding the Right Partner

การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งที่เราพบเจอเป็นประจำในภาคธุรกิจต่างๆ แต่การค้นหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี ที่สามารถช่วยต่อยอดธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย คุณเกตติวิทย์ได้อธิบายแนวคิดในการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าสนใจไว้ว่า “สำหรับการเฟ้นหาพันธมิตรทางธุรกิจ สิ่งแรกที่เราต้องพิจารณาคือ แนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งควรเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้สูง จากนั้นเราจึงเริ่มมองหาผู้ประกอบการที่สามารถตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน พร้อมส่งเสริมให้ LEO และพันธมิตรมีศักยภาพในการเติบโตทางในธุรกิจและตลาดใหม่ๆ ร่วมกันได้ เป็นการร่วมมือที่สามารถหาจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายมาส่งเสริมซึ่งกัน เพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้าเรามีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ใช่ เราก็จะสามารถใช้จุดแข็งของพันธมิตรเรามาช่วยต่อยอดและพัฒนาธุรกิจและขยายตลาดใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าการที่บริษัทฯ ต้องศึกษาและเริ่มธุรกิจเอง”

How the Partners Helps

ดังที่กล่าวไปในข้างต้น การเลือกพันธมิตรที่ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมธุรกิจของกันและกันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยการสร้างพันธมิตรในรอบปีที่ผ่านมา ได้มอบโอกาสมากมายให้กับ LEO คุณเกตติวิทย์ อธิบายในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “ในส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ การเป็นพันธมิตรกับ China Post ได้กลายเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ช่วยให้ LEO สามารถช่วยต่อยอดการพัฒนาธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางรางได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ LEO ได้มีโอกาสรู้จักกับพันธมิตรใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น Yunnan Tengjun และสร้างศักยภาพให้กับ LEO ในการให้บริการแบบ End-to-End Logistics สำหรับการขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ขณะที่ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น ผู้ประกอบการ SME และ e-Commerce ในประเทศไทย ก็จะมีทางเลือกในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้หลายหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยอัตราค่าขนส่งที่สมเหตุสมผลและมีจุดหมายปลายทางที่ครอบคลุมทั่วโลก”

“ในส่วนของธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า เช่นคลังสินค้าประเภทต่างๆ รวมถึง Self-Storage การเติบโตในส่วนนี้ช่วยทำให้ LEO สามารถเพิ่มรายได้ที่เป็นรายได้ประจำ (Recurring Income) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงสร้างโอกาสในการขยายพื้นที่สำหรับให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ  ได้มากขึ้น เนื่องจากพันธมิตรทางธุรกิจของเรามีอสังหาริมทรัพย์และมีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็จะทำให้ LEO สามารถหาพื้นที่และราคาที่เหมาะสมได้รวดเร็วมากขึ้น และเมื่อผสานกับความเชี่ยวชาญของ LEO ทำให้โครงการ Self-Storage แห่งที่สาม จึงมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว”

นอกจากนี้ การแบ่งปันความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ระหว่างบริษัทพันธมิตร จะช่วยให้ LEO สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานและการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยคุณเกตติวิทย์ ให้ความเห็นว่า การค้าโลกและเทรนด์โลจิสติกส์เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเรามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มากขึ้น เราก็จะสามารถบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้นเช่นกัน

“ตลอดสามทศวรรษที่ LEO ดำเนินธุรกิจมา เราได้ผ่านห้วงวิกฤติการทางเศรษกิจระดับโลกมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น สงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤติต้มยำกุ้ง รวมถึงวิกฤติ Covid-19 เพิ่งผ่านพ้นไป สิ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤติเหล่านั้นคือ เราไม่ควรพึ่งพาลูกค้าจากตลาดใดตลาดหนึ่งหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากจนเกินไป ดังนั้น เราจึงมุ่งขยายธุรกิจของเราให้มีความหลากหลายและพยายามมองหาโอกาสในตลาดอื่นๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับบริษัท LEO Global Logistics ของเรา”

“การที่บริษัทฯ ร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายธุรกิจ จะช่วยทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แข็งแกร่งและยั่งยืน ส่งผลให้บริษัทฯ มีความสามารถในการสร้างยอดขายและกำไรของบริษัทให้เติบโตและสามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ต่อเนื่อง”

Upcoming Partnerships

แม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างพันธมิตรจากผู้ประกอบการชั้นนำหลายแห่ง แต่ LEO ไม่หยุดยั้งในการขยายความร่วมมือทางธุรกิจเพิ่มเติม บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสในธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อยู่เสมอ เพื่อเข้ามาเติมเต็มการให้บริการให้ครบวงจรและหลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดการเติบโตขององค์กรให้มากยิ่งขึ้น 

คุณเกตติวิทย์เผยว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบริษัทชั้นนำในต่างประเทศอีกหลายโครงการ ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1 ในปีหน้า ซึ่งเราคาดว่า ธุรกิจเหล่านั้นจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการให้บริการลูกค้าของเรา รวมถึงสร้างการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้ คาดว่ารายได้ของ LEO มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใน 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ LEO จะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาเสริมการเติบโตของกิจการ และเราก็มีทีมงานผู้บริหารมืออาชีพมากมาย ที่พร้อมรองรับการขยายธุรกิจในทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับให้ LEO เติบโตเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าได้เสมอ พร้อมมุ่งมั่นที่จะทำให้ LEO เป็นหุ้น Blue Chip Stock ของธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน และสามาถรถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ”

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของ LEO ในรอบปีที่ผ่านมา

  • ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ China Post Yunnan ขนส่งสินค้า E-commerce ระหว่างทั้งสองประเทศไทย-จีน
  • ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น General Sales Agent (GSA) ของสายการบิน China Postal Airline ขนส่งสินค้าทางอากาศจากกรุงเทพไปยังเมืองคุนหมิง
  • China Post และ LEO ในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากเมืองคุนหมิง ยูนนาน ประเทศจีน มายัง สปป. ลาว และนำสินค้าเข้าสู่ประเทศไทย อีกด้วย
  • ลงนามสัญญาทางธุรกิจกับ China Post เพิ่มเติมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการขนส่งสินค้าทางรถไฟและการดำเนินการด้านซัพพลายเซน ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดหาสินค้าจากประเทศไทย เพื่อไปขายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ China Post ในประเทศจีน นอกเหนือจากธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ
  • ลงนามในสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Cooperation Agreement) กับบริษัท Yunnan Tengjun Multimodal Transport Holding Ltd เพื่อพัฒนาระบบบริการรถไฟสำหรับการขนส่งผลไม้และสินค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยและจีน
  • ร่วมลงทุนกับ ADVANTIS FREIGHT (PVT) LIMITED เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจในด้าน Logistics & Distribution Center
  • ร่วมลงทุนกับ SK Asset Management Company Limited ในเครือ SENA Development จัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่เพื่อดำเนินโครงการ Self-Storage และพัฒนาธุรกิจคลังสินค้าและให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
  • ร่วมลงทุนกับ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ในการดำเนินธุรกิจศูนย์ให้บริการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics Center) และให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร
  • ร่วมมือกับพันธมิตรกับบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และบริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด เพื่อร่วมกันในการขยายธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังประเทศจีนและลาว รวมถึงบริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border) ไปยังประเทศที่ 3 ในเขตอาเซียน และภูมิภาค BIMSTEC
  • จับมือ เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ส เครือปูนใหญ่ ร่วมทุน ZPS สู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม ในแพลตฟอร์ม ที่ชื่อว่า ZUPPORTS ที่จะเป็นส่วนสำคัญของแผนการจัดทำ Digital Transformation

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้PIL เปิดตัวบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในชื่อ PIL Intermodal Services
บทความถัดไปประกาศสำคัญต่อผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา: Kerry-Apex เปลี่ยนรหัส SCAC สำหรับสำแดงบัญชีรายการสินค้าต่อศุลกากรสหรัฐฯ
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way