TNSC เผย ยอดส่งออก ก.พ. หดตัว 4.47% พร้อมระบุอุปสรรคด้านซัพพลายเชน

0
1381

คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) แถลงข่าวร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ณ อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา

โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีมูลค่า 20,642 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.47 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 622,310 ล้านบาท ลดลง 8.51 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของการนำเข้าสินค้า เดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีมูลค่า 16,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 512,083 ล้านบาท ลดลง 8.24 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,897 ล้านเหรียญสหรัฐ และในรูปเงินบาทมีมูลค่า 110,226 ล้านบาท

ในส่วนของปริมาณการส่งออกสินค้ากลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ปรับลงลด 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเที่ยบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ลดลง 5.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ TNSC คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 ว่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ (บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1) การค้าขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าอุปโภคและสินค้าเวชภัณฑ์ 2) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และ 3) ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี

ในด้านของปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1) ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต่อซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออก เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมาตรการ lockdown และควบคุมการเดินทาง กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย

2) กระบวนการโลจิสติกส์ที่หยุดชะงักทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้แก่

ทางเรือ – ระยะเวลาในการดำเนินการและตรวจตราเจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือใช้ระยะเวลามากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลง อาจทำให้มีตู้สินค้าตกค้างภายในท่าเรือและเกิดความหนาแน่นเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลคุณภาพสินค้าบางชนิด อาทิ สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ ประกอบกับมีการทำ blank sailing มากขึ้น หรือเรือไม่เข้าเทียบท่าที่มีความแออัดและต้องรอคิวนานเกินไป

ทางอากาศ – เนื่องจากหลายสายการบินหยุดให้บริการ ทำให้ต้นทุนค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศปรับสูงขึ้น

ทางบก – รัฐบาลมีคำสั่งปิดด่านถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนทั้ง สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นเวลา 14 วัน โดยกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการให้คงเหลือการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้เพียงประเทศละ 1 จุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสินค้าและต่อมูลค่าการค้าชายแดนจำนวน 60,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,000 ล้านบาทต่อวัน

3) ผลกระทบจากภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ในส่วนของการขนส่งสินค้าในภาคใต้ จากผลกระทบเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และผลกระทบของมาตรการการควบคุมการส่งออกผ่านการขนส่งสินค้าทางถนน ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกจากทางใต้ออกไปยังท่าเรือปีนังนั้นประสบปัญหาความแออัด และประกอบกับข้อจำกัดต่างๆ ของท่าเรือน้ำลึกสงขลา ผู้ส่งออกสินค้าทางใต้ของไทยจึงใช้เรือบาร์จรับตู้สินค้าที่ท่าเรือในเขตจังหวัดภาคใต้ และนำไปบรรทุกเรือแม่เพื่อส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง  แต่พบว่าการขนส่งแนวทางนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการยกตู้ซ้ำซ้อน (Double Handling) จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น TNSC จึงได้เสนอขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาแก้ไขเรื่องการกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง ในส่วนค่ายกตู้สินค้า เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ส่งออก

นอกจากนี้ ผู้ส่งสินค้าทางใต้ได้เสนออีกแนวทางหนึ่ง คือ การนำตู้สินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกแล้ว ทำการขนส่งลงเรือบาร์จ แล้วไปถ่ายสินค้าลงเรือท้องแบน (lighter) เพื่อโหลดขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล ในบริเวณน่านน้ำเขตภาคใต้ของไทย แล้วส่งต่อออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของกรมเจ้าท่าและกรมศุลกากรต่อไป

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MOL พัฒนาฝาแฝดดิจิทัลในเครื่องยนต์เรือ
บทความถัดไปMSC ขยายบริการ SOT ครอบคลุมทั่วโลก เสริมความคล่องตัวซัพพลายเชน
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.