ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา Hutchison Ports Thailand (HPT) ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมกับให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในด้านความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากร
แม้แต่ในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การปฏิบัติงานในท่าเทียบเรือ ทั้งการควบคุมอุปกรณ์หน้าท่า และยกขนตู้สินค้าภายใต้กำหนดเวลาที่เคร่งครัด ก็นับเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว HPT จึงได้สรรหาวิธีการเสริมสร้างความปลอดภัย และรับมือกับความท้าทายในฐานะผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือที่เปี่ยมศักยภาพ และเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์หน้าท่าประสิทธิภาพสูง
โดยหลังจากที่ผลักดันบริษัทฯ ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดมาได้แล้ว Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ ของ Hutchison Ports ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ก็ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกับ LM ในเรื่องของนโยบายการดำเนินธุรกิจ การนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยระดับสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติงานหน้าท่า รวมทั้งอธิบายถึงการรักษาสภาพแวดล้อมผ่านการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสอดคล้องกับ ‘Go Green’ แนวทางรักษ์โลกของ HPT อีกด้วย
Safety is Hutchison Ports Thailand’s Top Priority
การดำเนินธุรกิจของ HPT ซึ่งมีส่วนในการผลักดันกระแสซัพพลายเชนให้ดำเนินต่อไปจำเป็นต้องมีบุคลากรประจำ ณ ท่าเทียบเรือเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าหน้าท่า ปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าชนิดล้อยาง รถยกตู้สินค้าหนัก ฯลฯ ในการนี้ HPT จึงได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัสในกลุ่มบุคลากรด่านหน้า
“เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยให้แก่บุคลากรด่านหน้าของเรา ทาง HPT ได้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของภาครัฐและท่าเรือแหลมฉบังอย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงภายในพื้นที่ท่าเทียบเรือของเรา อาทิ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การคัดกรองผ่านการวัดอุณหภูมิร่างกาย และการรักษาระยะห่างทางสังคม” Mr. Ashworth เผย
“แม้เราจะอนุญาตให้พนักงานบางส่วน เช่น พนักงานฝ่ายสนับสนุน ปฏิบัติงานจากที่บ้าน โดยประสานงานผ่านการประชุมออนไลน์ กระนั้น บุคลากรส่วนใหญ่ยังคงต้องเข้ามาปฏิบัติงานที่ท่าเทียบเรือ เราจึงมุ่งมั่นดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุมที่สุด” Mr. Ashworth กล่าวเสริม
เนื่องจากที่ HPT มีเรือขนส่งสินค้าจากทั่วโลกเข้าและออกอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทฯ จึงได้กำหนดมาตรการจำกัดการสื่อสารและพบปะระหว่างบุคลากรของบริษัทฯ และลูกเรือจากเรือที่เข้ามาเทียบท่า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้เหลือน้อยที่สุด
ในขณะที่ประเทศที่มีท่าเรือหลักหลายแห่งอย่างประเทศจีนและอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งก่อให้เกิดการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและกระแสโลจิสติกส์จากการที่บุคลากรท่าเรือในประเทศดังกล่าว สัมผัสกับเชื้อไวรัส ทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อซัพพลายเชนทั่วโลก โดยเมื่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนต้องรับมือกับวิกฤตโรคระบาด สหรัฐอเมริกาก็ได้รับผลกระทบในรูปแบบของปัญหาความหนาแน่นในท่าเรือ ซึ่งเรือขนส่งสินค้าต้องลอยลำรอเข้าเทียบท่ายาวนานเป็นสัปดาห์
นอกจากนี้ การขาดแคลนบุคลากรในกระบวนการขนส่งสินค้าทั้งทางรถบรรทุก ทางราง และในคลังสินค้า ยังส่งผลให้เกิดปัญหาในกระบวนการกระจายสินค้า ผลลัพธ์ก็คือ ผู้บริโภคต้องพบกับปัญหาสินค้าขาดแคลนตามไปด้วย
ทว่า ประเทศไทยกลับไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากท่าเรือในประเทศไทยยังสามารถเปิดทำการต่อไปได้โดยปราศจากปัญหาความหนาแน่นในท่าเรือ โดยผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือในไทยอย่าง HPT สามารถผลักดันการส่งออกสินค้าของประเทศไทยไปยังตลาดการค้าของโลกได้ และแม้จะพบกับปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่กระบวนการไหลเวียนของตู้สินค้าเกิดการหยุดชะงักในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ตู้สินค้าจึงไม่สามารถขนส่งกลับมาสู่เอเชียได้ตามกำหนดอย่างที่ควรจะเป็น
และแม้ว่าการหยุดชะงักของภาคส่วนการท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทว่า องค์เศรษฐกิจโดยรวมในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็ยังสามารถประคองตัวไว้ได้ โดยมีแรงผลักดันหลักมาจากภาคการส่งออกสินค้า ซึ่งดำเนินไปอย่างลื่นไหล ผ่านการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพของท่าเรือ ท่าเทียบเรือ และเหล่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์
New Technology improves Wellbeing of Staff and the Environment
ท่าเรือและท่าเทียบเรืออาจเป็นสถานปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง โดยในการดำเนินงานแบบดั้งเดิม ผู้ปฏิบัติงานต้องอาศัยกำลังแรงกายอย่างมากในกระบวนการยกขนตู้สินค้า รวมไปถึงการมัดโยงเชือกจากเรือเข้ากับพุกหน้าท่าในตอนที่เรือเข้าเทียบท่า
ทว่า ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสมัยใหม่อย่าง HPT ได้นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ล้ำสมัยเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติการ พร้อมลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานในบริเวณใกล้กับอุปกรณ์หน้าท่าที่อันตราย
“Hutchison Ports Thailand มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นท่าเทียบเรือพลังงานสะอาดผ่านการปฏิบัติการอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในบริเวณท่าเทียบเรือของเรา รวมทั้งรอบๆ ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น เราจึงมีความภูมิใจที่จะนำเสนออุปกรณ์หน้าท่าล้ำสมัยชุดใหม่ ณ ท่าเทียบเรือ D ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือหลักของเรา โดยอุปกรณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย ปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกขนตู้สินค้าในลานชนิดล้อยางระบบควบคุมจากระยะไกล” Mr. Ashworth กล่าว
“นอกจากประสิทธิภาพในการช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยมากขึ้น จากการที่บุคลากรสามารถควบคุมอุปกรณ์จากห้องควบคุมระยะไกล โดยที่ไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปปฏิบัติการในห้องควบคุมบนตัวปั้นจั่น พร้อมไปกับช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อมแล้ว การปฏิบัติการด้วยระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ของอุปกรณ์เหล่านี้ ยังเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงความสามารถของเราในการก้าวขึ้นเป็นท่าเทียบเรือชั้นนำในด้านการบุกเบิกเทคโนโลยีล้ำสมัยของประเทศไทยอีกด้วย” Mr. Ashworth อธิบาย
“พร้อมกันนั้น ที่ผ่านมา เราได้นำหัวรถลากตู้สินค้าอัตโนมัติพลังงานไฟฟ้าจำนวนหกคัน มาใช้งานขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและในลานแล้วมากกว่า 40,000 ตู้ และในปีหน้าเราก็จะรับหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติ 9 คัน และหัวลากตู้สินค้าใช้พลังงานไฟฟ้า อีก 9 คัน มาใช้งานเพิ่มเติมอีก โดยเมื่อนับรวมกับอุปกรณ์หน้าท่าพลังงานไฟฟ้าโดยสมบูรณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้า เราจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้อย่างมหาศาล” Mr. Ashworth กล่าวเสริม
นอกเหนือไปจากอุปกรณ์หน้าท่าที่ก้าวล้ำแล้ว HPT ยังผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผ่านการนำแอปพลิเคชัน Cargo Release ของกลุ่ม Global Business Shipping Network (GSBN) มาใช้ในกระบวนการปล่อยตู้สินค้า โดย Cargo Release มาพร้อมกับโซลูชันแบบไร้เอกสารที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในท่าเรือที่นำเข้าสินค้า ซึ่งรวมทั้งสายการเดินเรือ ผู้รับสินค้า ตัวแทนผู้รับจัดการสินค้า และท่าเทียบเรือ ซึ่งการขจัดกระดาษออกจากกระบวนการดำเนินงานช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายขึ้น และลดระยะเวลาในการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องได้ด้วยการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์
HPT ยังมุ่งมั่นสู่การเป็นท่าเทียบเรือสีเขียว ผ่านโครงการ Go Green ซึ่งรณรงค์ให้พนักงานเข้าร่วมพันธกิจรักษ์โลก ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดด้วยการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ประหยัดการใช้น้ำ ลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม ลดการใช้กระดาษ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบบริเวณท่าเทียบเรือ
แนวคิดท่าเทียบเรือสีเขียวมุ่งเน้นการปฏิบัติงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนโดยแนวคิดดังกล่าวจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ภายใต้การคิดเชิงนวัตกรรม และแนวทางการบริหารจัดการที่เปิดรับการประหยัดพลังงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
“ในการเป็นท่าเทียบเรือสีเขียว ผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือต้องได้รับมาตรฐานสากลสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจท่าเทียบเรือและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเป้าหมายของท่าเทียบเรือสีเขียว คือการลดผลกระทบที่เกิดจากการปฏิบัติงานต่อธรรมชาติให้เป็นศูนย์ พร้อมกับลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในชุมชนรอบท่าเรือ ในการนี้ ผมมีความภูมิใจที่จะประกาศว่า HPT โดยเฉพาะท่าเทียบเรือ D ได้มุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาปฏิบัติการท่าเทียบเรือ เพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเปี่ยมประสิทธิภาพ” Mr Ashworth กล่าว
High-tech and High-touch
แม้ HPT จะมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งอุปกรณ์หน้าท่าระบบควบคุมจากระยะไกล เทคโนโลยีอัตโนมัติ อุปกรณ์เครื่องยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการทำงานแบบดิจิทัล ทว่า บริษัทฯ ก็ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับบุคลากรและการใส่ใจผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก
“ในฐานะผู้ให้บริการสาธารณะ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปโดยการเปิดปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันก็เน้นให้ความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของพนักงานอย่างเข้มงวด พร้อมบำรุงรักษาและพัฒนาอุปกรณ์หน้าท่าเพื่อรักษามาตรฐานการบริการให้กับลูกค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดั่งเช่นที่เราทำเสมอมา” Mr. Ashworth กล่าวปิดท้าย
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่