DB Schenker Land Transport (DB Schenker) เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนชั้นนำในเส้นทางระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระหว่างจีนและยุโรป

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ DB Schenker ได้เสริมตัวเลือกการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในภูมิภาคเอเชียด้วยการเปิดตัวเส้นทางการบริการจีน-ลาว ซึ่งเป็นการมอบทางเลือกการขนส่งสินค้าทางบกแบบใหม่ในฐานะส่วนหนึ่งของ ‘Asia LANDbridge’ ที่กำลังเติบโตของบริษัท

Mr. Clarence Guo ผู้จัดการทั่วไป บริษัท DB Schenker Laos

เส้นทางการบริการจีน-ลาวใหม่ดังกล่าวมาพร้อมตัวเลือกการขนส่งแบบเต็มตู้และแบบเหมาขบวนในลักษณะ Block Trainรวมทั้งเข้ามาเป็นส่วนเสริมในโซลูชันโลจิสติกส์ครบวงจรแบบ door-to-door ของ DB Schenker โดยบริการใหม่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ ทั้งยังเป็นการมอบบริการแบบองค์รวมจากตัวเลือกบริการเสริม เช่น บริการรับสินค้าภายในประเทศ บริการด้านพิธีการศุลกากร บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทางรถไฟ บริการด้านพิธีการศุลกากรปลายทาง บริการคลังสินค้า และบริการขนส่งต่อเนื่องหลังจากที่สินค้าถึงสถานีปลายทาง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่ครอบคลุมของบริษัทฯ ในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของบริการใหม่จาก DB Schenker สำหรับลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสำหรับตลาดประเทศไทย เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ Mr. Clarence Guo ผู้จัดการทั่วไป บริษัท DB Schenker Laos ซึ่งนอกจากข้อมูลเชิงลึกสำหรับบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟล่าสุดของ DB Schenker แล้ว Mr. Guo ยังได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการขนส่งสินค้าสำหรับภูมิภาคนี้อย่างไร และข้อดีของการขนส่งสินค้าทางรถไฟเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ อาทิ การขนส่งทางถนน ทางทะเล และทางอากาศเป็นอย่างไร

“โซลูชันระบบรางแบบใหม่ของ DB Schenker ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางทางบกระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์ลงได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อสู่ยุโรปผ่าน Eurasian LANDbridge ของทางบริษัทฯ ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย” Mr. Guo กล่าว “เราขนส่งสินค้าทางบกไปยังกรุง Vientiane ประเทศลาว ซึ่งจะมีทีมงานเฉพาะคอยให้บริการขนถ่ายตู้สินค้าจากรถบรรทุกขึ้นบนรถไฟอย่างปลอดภัย จากนั้นสินค้าจะขนส่งต่อทางรางไปยัง Kunming และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟทั่วประเทศจีนอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ผ่านทางสถานีรถไฟ Chongqing ในฐานะประตูการค้า ยังสามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังปลายทางในยุโรปได้อีกด้วย”

History of The China-Laos Railway

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว หรือที่รู้จักในชื่อรถไฟสาย Boten-Vientiane มีความยาว 421 กม. เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสาย Kunming-Singapore ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ระบุว่า “BRI มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเร่งรัดการบูรณาการด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมอันมีประวัติเก่าแก่ ในฐานะนโยบายและโครงการลงทุนระยะยาว BRI มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ และท่าอากาศยาน ตลอดจนโรงไฟฟ้าและเครือข่ายโทรคมนาคมด้วย”

เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟ Kunming-Singapore เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2021 โดยเป็นทางรถไฟความเร็วสูงขนาดเกจมาตรฐาน (standard gauge) มีระบบจ่ายไฟฟ้าให้รถไฟ สามารถรองรับรถไฟบรรทุกสินค้าที่ระดับความเร็ว 120 กม./ชม. โดยทางรถไฟ 47 เปอร์เซ็นต์ ทอดผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง และ 15 เปอร์เซ็นต์ พาดผ่านสะพาน 167 แห่ง

“DB Schenker ได้เปิดเฉลียงโลจิสติกส์ใหม่สำหรับลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของเราในการบุกเบิกบริการใหม่ๆ อาทิ Eurasia Rail โดยเราไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสทันทีเมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ ทั้งนี้เพื่อขยายการบริการแก่ลูกค้า และช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นผ่านตัวเลือกการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น” Mr. Guo กล่าว

“ในการเดินทางข้ามประเทศลาวจากเหนือจรดใต้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเชื่อมต่อ Boten ในจังหวัด Luang Namtha ทางตอนเหนือติดกับประเทศจีนสู่ Thanaleng บริเวณตอนใต้ของ Vientiane ซึ่งติดกับชายแดนไทย” Mr. Guo อธิบาย “ที่บริเวณชายแดนจีน เส้นทางรถไฟจะเชื่อมต่อโดยตรงกับเส้นทางรถไฟ Yuxi-Mohan ของจีนที่เมือง Mohan ในมณฑลยูนนาน ทำให้ลาวเป็นประเทศแรกที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟของจีนโดยใช้เทคโนโลยีของจีน ในขณะที่บริเวณชายแดนไทยก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย”

Routing Options on China-Laos Cross-border Logistics Services

โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวใหม่ โซลูชันการขนส่งสินค้าแบบสองทาง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การขนส่งทางบกและทางรถไฟของ DB Schenker มีส่วนช่วยให้ลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง โดยขบวนรถไฟที่เดินทางข้ามพรมแดนจีน-ลาวใช้ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับที่ใช้ในเครือข่ายรางรถไฟทั่วประเทศจีน ซึ่งหมายความว่าไม่มีความจำเป็นต้องขนถ่ายตู้สินค้าไปขึ้นรถไฟขบวนใหม่

“จากสถานีรถไฟ Vientiane South ในลาวจนถึงสถานี Kunming คิดเป็นระยะทางรวมกว่า 1,000 กม. แต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่สร้างขึ้นใหม่จะใช้ระยะเวลาเดินทางเพียงสองถึงสามวันเท่านั้น” Mr. Guo กล่าว “ซึ่งรวดเร็วกว่าการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกอย่างที่ผ่านๆ มา ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงห้าวัน นอกจากนี้ ยังมีราคาถูกกว่าอย่างมาก โดยการขนส่งด้วยรถบรรทุกในเส้นทางนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 4,700 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่บริการขนส่งทางรถไฟของเราคิดค่าบริการเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐเท่านั้น” เขากล่าวเสริม

การขนส่งด้วยรถบรรทุกในเส้นทางนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 4,700 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่บริการขนส่งทางรถไฟของเราคิดค่าบริการเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐเท่านั้น”

การเดินทางจาก Kunming ถึง Boten มีระยะทาง 604 กม. และการเดินทางผ่านบริการรถไฟขนส่งสินค้าของ DB Schenker จะใช้เวลา 14 ชั่วโมง ในขณะที่เส้นทางจาก Boten ถึง Vientiane มีระยะทาง 418 กม. ใช้เวลาเดินทาง 11 ชั่วโมง ทำให้รถไฟเป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุด เหนือกว่าโหมดการขนส่งอื่นๆ เมื่อพิจารณาในแง่ของต้นทุนค่าขนส่งและระยะเวลาการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ บริการขนส่งทางรถไฟของ DB Schenker ยังมีตัวเลือกสำหรับการขนส่งสินค้าต่อจาก Kunming ไปยังปลายทางทั่วประเทศจีน โดยจาก Vientiane สู่ Xi’an, Suzhou, Chengyu, Guangzhou หรือ Xiamen จะใช้เวลาเพียงเจ็ดวัน โดยมีค่าบริการตั้งแต่ 1,850-5,300 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับปลายทางหรือประเภทบริการที่เลือก

Catchment Area and Top Commodities moved via The China-Laos Railway

โดยอาศัยรูปแบบการขนส่งแบบรถบรรทุก-รถไฟ-รถบรรทุก เครือข่ายการให้บริการของ DB Schenker จะครอบคลุมทั่วภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึง 21 มณฑลของจีน และขยายออกไปจนถึงยุโรปผ่าน Eurasia LANDbridge ของ DB Schenker ซึ่งช่วยให้บริษัทฯ สามารถมอบบริการขนส่งแบบ door-to-door สำหรับลูกค้าที่สนใจใช้บริการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเพื่อจัดส่งสินค้าไปยังที่ต่างๆ ทั่วมหาทวีปยูเรเชีย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก China Kunming Railway Group ระบุว่า “ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 เส้นทางรถไฟจีน-ลาวถูกใช้ในการขนส่งสินค้ารวม 4.03 ล้านเมตริกตัน ซึ่งครอบคลุมสินค้าข้ามพรมแดน 647,000 ตัน อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เซลล์สุริยะ และผลไม้ ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน เส้นทางรถไฟสายนี้ช่วยขนส่งทุเรียนจากไทยไปจีนได้ประมาณ 500 ตัน โดยใช้เวลาประมาณเจ็ดวัน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการขนส่งด้วยวิธีเดิมคือการขนส่งทางบกและทางเรือรวมกัน”

How Thai Shippers can utilize the China-Laos Cross-border Logistics Services

ปัจจุบันเส้นทางทางรถไฟจีน-ลาวจะสิ้นสุดลงที่สถานี Vientiane South ในขณะที่การใช้รถไฟความเร็วสูงผ่านเข้ามาในประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถทำได้จากขนาดรางรถไฟ 1.00 เมตร ที่ใช้ทั่วประเทศไทยซึ่งต่างจากขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจากกรุงเทพฯ ไปยัง Thanaleng ในลาว จะเป็นเส้นทางที่ใช้ในการลำเลียงสินค้าต่อเนื่องเข้ากับเส้นทางทางรถไฟจีน-ลาว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2015 ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในช่วงปลายปี 2014 เพื่อพัฒนาทางรถไฟร่วมกัน โดยตามเงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าเส้นทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จะข้ามแม่น้ำโขงผ่านสะพานแห่งใหม่เพื่อไปบรรจบกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ Vientiane South อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกองรถบรรทุกและเครือข่ายการบริการที่กว้างขวางของ DB Schenker เพื่อรับบริการขนส่งช่วง First และ Last Mile ได้

Mr. Guo กล่าวว่า “DB Schenker ตั้งเป้านำเสนอโซลูชันการขนส่งที่หลากหลายและปรับแต่งตามความต้องการที่สอดรับกับรูปแบบความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งจนกว่าเส้นทางรถไฟระหว่าง Vientiane และหนองคายจะเสร็จสมบูรณ์ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของเราจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง นอกจากนี้ ทีมปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางบกในประเทศไทยและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเสมอที่จะให้บริการอย่างมืออาชีพ และมอบกระบวนการขนส่งสินค้าที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว”

Rail Freight Proving More Valuable in Uncertain Times

ในช่วงการแพร่ระบาดสูงสุดของ COVID-19 คนงานชาวจีนจำนวนมากต้องถูกกักตัว ทำให้เกิดปัญหาความแออัดอย่างร้ายแรงในภาคการขนส่งสินค้าทางทะเล ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การขาดกำลังคนอย่างหนักยังส่งผลให้แรงงานหลักถูกทิ้งให้ดำเนินงานในท่าเรือเพียงลำพัง ในขณะที่ความต้องการใช้บริการมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตู้สินค้าจำนวนมหาศาลจึงตกค้างสะสมอยู่ในท่าเรือ

เมื่อไม่มีพื้นที่รองรับตู้สินค้า เรือบรรทุกสินค้าจึงไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นจากเรือได้ ส่งผลทำให้เรืออาจต้องจอดรอเข้าท่าเรือในประเทศจีนนานสูงสุดถึงหนึ่งเดือน จึงเกิดผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลกในแบบโดมิโน ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่สายการเดินเรือประสบปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและพื้นที่ระวาง พวกเขาก็จำเป็นต้องขึ้นราคาค่าบริการ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระเพิ่มเติมของผู้ส่งสินค้า และผู้บริโภคปลายทางในท้ายที่สุด

ในช่วงเวลานี้เองที่การขนส่งสินค้าทางรถไฟกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ส่งสินค้าที่ต้องการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าและออกจากประเทศจีน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วค่าบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟจะสูงกว่าการขนส่งทางทะเลโดยเฉลี่ย แต่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลทำให้ส่วนต่างราคาลดลงอย่างมาก ราคาค่าบริการของทั้งสองโหมดจึงปรับเข้ามาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ จากโครงสร้างพื้นฐานระบบรางความยาวหลายพันกิโลเมตรที่พร้อมใช้งาน และข้อได้เปรียบอื่นๆ อาทิ ระยะเวลาการขนส่งที่รวดเร็วและเชื่อถือได้มากกว่า ผู้ส่งสินค้าจำนวนมากจึงเปลี่ยนมาใช้รถไฟในช่วงภาวะโรคระบาด เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีกว่าภาคการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ประสบปัญหาอย่างหนัก

“ด้วยความยากลำบากในการจองและรับประกันเวลาส่งมอบ ประกอบกับราคาค่าบริการที่สูงขึ้นของภาคการขนส่งสินค้าทางทะเลในช่วงสองปีที่ผ่านมา รถไฟจึงถูกมองว่าเป็นโซลูชันที่คุ้มค่าและรวดเร็วมากขึ้นสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าระยะทางไกล” – Mr. Guo

ตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับวิธีการที่โซลูชันระบบรางของ DB Schenker มอบผลประโยชน์ให้กับลูกค้าคือการที่บริษัทฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีรายใหญ่ เนื่องจากการปิดชายแดนใน Pingxiang และ Dongxing จาก COVID-19 ระยะเวลาจัดส่งสินค้าสำหรับผู้ผลิตในการนำส่งผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบจาก Vientiane ไปยัง Suzhou จึงถูกยืดออกไปอย่างมาก ประกอบกับการขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งหมายความว่าบริษัทต้องเผชิญกับระยะเวลาการจัดส่งสินค้าโดยรวมอย่างน้อย 18 วัน สำหรับวิธีการขนส่งแบบเดิม

ด้วยเหตุนี้ DB Schenker จึงคิดค้นวิธีแก้ปัญหาโดยการจัดสรรขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแบบ Block Train เพื่อขนส่งสินค้าโดยตรงจาก Suzhou สู่ Vientiane ด้วยกองตู้สินค้าของตัวเองเพื่อการันตีว่าจะมีพื้นที่ระวางเพียงพอ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังช่วยดำเนินการให้พิธีการศุลกากรทั้งหมดใน Suzhou ง่ายขึ้นสำหรับลูกค้า ท้ายที่สุด พันธมิตรผู้ผลิตจึงพอใจกับระยะเวลาขนส่งสินค้าที่สั้นลงเหลือเพียงแปด ทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากจำเป็นต้องจัดส่งสินค้าทางอากาศในกรณีเร่งด่วนอีกด้วย

DB Schenker promotes Resilient Supply Chains

ด้วยความต้องการทางเลือกการบริการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ DB Schenker ประสบความสำเร็จในการมอบซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่นให้กับลูกค้า และบูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานของลูกค้าในฐานะพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่ไว้วางใจได้ โดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการทางธุรกิจที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาของลูกค้า

บริษัทฯ จะยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำด้านการขนส่งสินค้าระดับโลกต่อไปโดยการจัดหาโซลูชันที่คุ้มค่าและประหยัดเวลาสำหรับช่วงเวลาที่ท้าทายและยากแก่การคาดเดาเช่นในปัจจุบัน


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DACHSER เปิดตัวเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมเยอรมนีและสเปน
บทความถัดไปTHE Alliance ประกาศแผนการปรับปรุงเครือข่ายการบริการประจำปี 2023
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his assuring smile and quill-tip talents.