ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความปลอดภัย และความโปร่งใสในอุตสาหกรรมขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งเหล่าผู้เล่นต่างก็ยังคงค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการของพวกเขา

โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่กลายเป็นกระแสและได้รับความสนใจจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี 2020 นี้ ก็คือ Digital Twins หรือ ฝาแฝดดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ได้รับการยกย่องจาก Gartner บริษัทวิเคราะห์เทคโนโลยีระดับโลกในปี 2017 ว่าเป็นหนึ่งในสิบเทคโนโลยีที่น่าจับตาที่สุดในช่วงทศวรรษหน้านี้

นิตยสาร LM ฉบับนี้ขออาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Digital Twins หรือ ฝาแฝดดิจิทัล ว่าเทคโนโลยีนี้คืออะไร และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

What is Digital Twins

Digital Twins หรือ ฝาแฝดดิจิทัล คือแนวคิดการทำสำเนาหรือแบบจำลองของวัตถุต่างๆ ทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการทำ Digital Twins ไม่เพียงจำลองลักษณะทางกายภาพให้เสมือนของจริงเท่านั้น แต่จะต้องมีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริง เพื่อคอยเก็บข้อมูลสถานะทางกายภาพของวัตถุแบบ Real-time เปรียบเสมือนกับการย้ายวัตถุทางกายภาพเหล่านั้นเข้าไปในโลกดิจิทัลจริงๆ นั่นเอง

การมีแบบจำลองวัตถุดิจิทัลที่สมจริงมอบประโยชน์หลายประการให้แก่ผู้ใช้งาน ประการแรกคือ ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะของวัตถุอย่างละเอียดผ่านสื่อที่มีภาพประกอบ ประการต่อมาคือผู้ใช้งานสามารถจำลองสถานการณ์ได้ว่า หากสภาพแวดล้อมหรือสถานะจุดใดจุดหนึ่งภายในวัตถุเปลี่ยนไป จะเกิดผลอย่างไรกับวัตถุ ซึ่งหากมีการเชื่อมโยง Digital Twin ของวัตถุหลายชนิดเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นการสร้างระบบจำลองย่อยๆ ขึ้นมา ทำให้การจำลองสถานการณ์มีความสมบูรณ์และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงแล้ว แนวคิดการสร้าง Digital Twins นั้นถือกำเนินมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน แต่การทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริงได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหลายชนิด รวมทั้งเงินทุนจำนวนมหาศาล มีเพียงองค์กรไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้นที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ หนึ่งในนั้นคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA

ชิ้นส่วนของ Apollo 13 ที่ได้รับความเสียหาย

NASA นับเป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคโนโลยี Digital Twins ก็ว่าได้ โดยย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 NASA ได้ใช้เทคโนโลยี Pairing Technology ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี Digital Twins ในการกู้ภัยภารกิจ Apollo 13 และในปัจจุบัน ทาง NASA ก็ยังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งวางแผนการซ่อมบำรุง โดยไม่จำเป็นเข้าไปตรวจสอบในสถานที่จริง

จนกระทั่งปัจจุบัน การเข้าถึงได้ง่ายของอินเทอร์เน็ต ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง เทคโนโลยีการสร้างวัตถุ 3 มิติ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเทคโนโลยีที่สร้างช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกันอย่าง Cloud ทำให้แนวคิด Digital Twins กลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลง และอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

Applying to the Industry  

ปัจจุบัน ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หลายรายได้นำแนวคิด Digital Twins มาปรับใช้ในการปฏิบัติการของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น DHL ได้มีการติดตั้งโซลูชันการจัดเก็บสินค้าอัจฉริยะเพื่อติดตามและจำลองสถานะทางกายภาพและปริมาณสินค้าในคลังแบบ Real-Time ในคลังสินค้าของ Tera Pak ในสิงคโปร์

โดยการติดตั้งระบบดังกล่าว ทำให้ DHL สามารถเห็นภาพโดยรวมภายในคลังสินค้าได้ทันที ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดและการปฏิบัติการที่เกินความจำเป็น รวมทั้งสามารถทดสอบได้ทันทีบนระบบจำลองดิจิทัล ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงของวัตถุหรือตำแหน่งของอุปกรณ์ภายในคลังสินค้า หรือ มีการนำอุปกรณ์ใหม่เข้ามาติดตั้งจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกัน Mitsui O.S.K. Lines (MOL) สายการเดินเรือชั้นนำของญี่ปุ่น ได้จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีด้านพาณิชย์นาวี National Institute of Maritime, Port and Aviation Technology (MPAT) และ National Maritime Research Institute (NMRI) เพื่อพัฒนาต้นแบบฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins) ของเครื่องยนต์เรือขนส่งสินค้า

โดยจะมีการใช้ข้อมูลการปฏิบัติการที่รวบรวมจากเรือของ MOL ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ในการสร้างภาพจำลองสถานะของเครื่องยนต์หลักขณะอยู่ในระหว่างการปฏิบัติการ เพื่อระบุและยืนยันสถานะของเครื่องยนต์หลัก ทั้งในส่วนของปริมาณไอเสียและค่าความร้อนเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยากต่อการจัดเก็บระหว่างที่เรือกำลังปฏิบัติการ นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังมีเป้าหมายในการเพิ่มความแม่นยำสำหรับการประเมินสถานะ และอัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์ที่เกิดจากการใช้งานอีกด้วย

Outlook and Conclusion

กล่าวโดยสรุปแล้ว Digital Twins คือเทคโนโลยีที่สุกงอมจากการพัฒนาของ Internet of Things, Big Data, ระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์, ระบบจำลองภาพสามมิติ และอื่นๆ มากมาย ทำผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบ คาดการณ์ หรือ ทดลองผลลัพธ์บางอย่างได้โดยไม่ต้องกระทำต่อวัตถุหรือสิ่งของใดๆ ทางกายภาพ

ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ Digital Twins จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท ในการท้าทายข้อจำกัดและความยุ่งยากต่างๆ เพื่อยกระดับบริการและประสิทธิภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่สุดก็คือผู้ใช้บริการ นั่นเอง


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้FarEye ระดมทุนรอบ Series D มุ่งยกระดับแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ที่ให้บริการแก่บริษัทชั้นนำ
บทความถัดไปYusen Logistics ในกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ เปิดศูนย์โลจิสติกส์แห่งที่สองใน Moerdijk
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way