การขนส่งสินค้าทางเรือนับเป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยและในระดับโลกมาโดยตลอด ด้วยข้อได้เปรียบด้านปริมาณการขนส่งและค่าใช้จ่ายที่น่าดึงดูดใจกว่าการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่นๆ ทำให้การขนส่งทางเรือครองส่วนแบ่งปริมาณสินค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากการขนส่งสินค้าทั้งหมดทั่วโลก และเปรียบดั่งเส้นเลือดใหญ่ที่คอยขับเคลื่อนสังคมมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขนส่งทางเรือก็คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งครั้งแรกตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อรับหน้าที่บริหารจัดการกิจการท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย ณ เวลานั้น
ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น ท่าเรือกรุงเทพเริ่มประสบปัญหาความแออัด กอปรกับที่เป็นท่าเรือแม่น้ำ ทำให้มีข้อจำกัดในการรองรับเรือขนาดใหญ่ ทางรัฐบาลจึงมีดำริให้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขึ้นมาในปี พ.ศ. 2533 และเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2534 ในฐานะท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ภายหลัง การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้พัฒนาท่าเรืออื่นๆ ในระดับภูมิภาค ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ ปัจจุบันการท่าเรือฯ กำกับดูแลท่าเรือห้าแห่งทั่วประเทศไทย ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และท่าเรือเชียงของ
ในวาระครบรอบ 70 ปี การท่าเรือแห่งประเทศไทย นิตยสาร LM ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในประเด็นความสำเร็จของการท่าเรือฯ ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และแผนการในอนาคตที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในยุคดิจิทัล
LM: ตลอด ๗๐ ปีที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ได้บรรลุหมุดหมายในการดำเนินธุรกิจอะไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์: ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทยนับว่าบรรลุหมุดหมายทางธุรกิจตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม คือการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำและยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดการค้าโลก โดยปัจจุบันระบบการขนส่งทางน้ำมีส่วนสำคัญต่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการขนส่งทั้งประเทศ
นอกจากนี้ การท่าเรือฯ ยังได้เตรียมแผนพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ ให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำในภูมิภาค รวมถึงจัดทำมาตรฐานการกำกับดูแลบริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพปลอดภัยและเชื่อถือได้ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ส่งเสริมการขนส่งทางรางและทางน้ำให้เป็นรูปแบบการขนส่งหลัก มีการขนส่งทางถนนเป็นระบบสนับสนุนและทางเลือกในการขนส่งที่ถึงจุดหมาย
LM: การท่าเรือฯ มีการวางแผนพัฒนาธุรกิจสำหรับการพัฒนาก้าวต่อไปเอาไว้อย่างไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์: ปัจจุบันเรากำลังดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือฯ ในการรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนขยายโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ และพร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ โดยเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี เทียบกับอัตราปัจจุบันที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี
เรายังมีการพัฒนาโครงการ Smart Port ซึ่งเป็นโครงการที่การท่าเรือฯ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยแบ่งพื้นที่การพัฒนาเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่โซน A พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม พื้นที่โซน B พัฒนาธุรกิจหลักที่ให้บริการเรือและสินค้าของท่าเรือกรุงเทพ และพื้นที่โซน C พัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่าเรือ
โดยการท่าเรือฯ จะเร่งพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้กลายเป็นท่าเรืออัจฉริยะในรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ (Smart Port) พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่หลังท่าของท่าเรือกรุงเทพให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่กลางเมืองหลวง สนับสนุนการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรรองรับการปฏิบัติการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ และยกระดับการให้บริการสู่ระดับมาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก
นอกจากนี้จากที่เราได้มีการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (20G) ที่ท่าเรือกรุงเทพโดยให้เชื่อมโยงกับท่าเรือชายฝั่ง A ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) และพัฒนาระบบการขนส่งและการขนถ่ายสินค้าในโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ผ่านท่าเรือชายฝั่งระหว่างท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเทียบเรือชายฝั่งภายในประเทศ โดยสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 240,000 ทีอียูต่อปี
ขณะเดียวกันการท่าเรือฯ ได้ร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการศึกษาออกแบบ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษอาจณรงค์-บางนา (S1) เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและสามารถระบายรถบรรทุกขึ้นสู่งทางพิเศษโดยตรงเพื่อให้มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกผ่านทางพิเศษบูรพาวิถีและภาคเหนือผ่านทางพิเศษฉลองรัฐและเชื่อมโยงเข้าสู่วงแหวนกาญจนาภิเษกและวงแหวนอุตสาหกรรมต่อไป
LM: การท่าเรือฯ มีแผนการตลาดเชิงรุกในการสานสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับผู้ประกอบการปัจจุบัน และลูกค้ารายใหม่อย่างไร
เรือโท กมลศักดิ์: การท่าเรือฯ ได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกในการสานสัมพันธ์ด้านธุรกิจ ลูกค้า และการตลาด เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายตัวของการท่าเรือฯ ด้วยการยกระดับการให้บริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจ ผ่านการผลักดันให้การดำเนินงานของการท่าเรือฯ ตอบสนองตามความต้องการความคาดหวังโดยเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Centric) และมุ่งเน้นการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันเราก็จะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนการบูรณาการฐานข้อมูลลูกค้า สารสนเทศด้านการตลาดของการท่าเรือฯ นำไปสู่การวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้ารายกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงสู่การพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ
นอกจากนี้ เรายังดำเนินการบริหารภาพลักษณ์และส่งเสริมการตลาด ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการรับรู้ของการท่าเรือฯ ในการเป็นประตูการค้าหลักของประเทศ และเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสร้างคุณค่าร่วม พร้อมบริหารจัดการสื่อดิจิทัลและพัฒนาช่องทางสื่อสารเพื่อสนับสนุนงานด้านตลาดของการท่าเรือฯ รวมถึงการส่งเสริมด้านการตลาดเชิงรุกเพื่อส่งเสริมธุรกิจหลักและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งในกลุ่มลูกค้าปัจจุบันและกลุ่มลูกค้าในอนาคต การขยายเครือข่ายเพื่อสร้างพันธมิตรเชิงธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นสร้างกลยุทธ์ด้านการตลาดที่เหมาะสมกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับการท่าเรือฯ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่งท่าเรือกรุงเทพ, โครงการสนับสนุนการตลาดและการดำเนินงานของสายการเดินเรือและผู้ประกอบการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบตู้สินค้าผ่านท่าเรือระนอง
LM: เพื่อเป็นการตอบรับกับยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ และสร้างภาพลักษณ์ท่าเรือที่ทันสมัย การท่าเรือฯ ได้วางแผนปรับใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงานและบริการอะไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์: ปัจจุบัน การท่าเรือฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System (PCS) ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการ Big Data ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการในกิจกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ (G2G) ภาคธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) และภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจ (B2B) รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ในลักษณะของ e-Logistics Platform ที่เป็นมาตรฐานสากลและทุกหน่วยงานที่อยู่ต่างระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อัตโนมัติแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ช่วยลดต้นทุน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน รวมทั้งกระบวนการต่างๆ ในการนำเข้าและส่งออก
ในปีที่ผ่านมามีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การท่าเรือฯ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมรับมือกับโอกาสและความท้าทายในอนาคต สิ่งสำคัญก็คือการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี องค์ความรู้ นวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจให้มากขึ้น ในการลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ความสำเร็จตลอด 70 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งในเวลานี้การท่าเรือฯ ยังคงมุ่งมั่นยกระดับการให้บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่