การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั่วโลก มาดูกันว่าภายใต้สถานการณ์อันท้าทายนี้ Dachser ประเทศไทย มีแนวทางพิสูจน์ความสามารถในการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับเป็นปกติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ได้อย่างไร
วิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และส่งผลกระทบทำให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ทั่วทุกมุมโลกเกิดความผันผวน แน่นอนว่าประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนี้เช่นกัน และการหยุดชะงักของวงจรการผลิตและการขนส่งได้กลายมาเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ ASEAN โดยทันที
ทันทีที่วิกฤติ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้เครื่องบินโดยสารทั่วโลกไม่สามารถให้บริการต่อได้ตามปกติ ส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากปริมาณพื้นที่ระวางสินค้าใต้ท้องเครื่องบินโดยสารที่ลดลงนั้นส่งผลกระทบต่ออัตราค่าพื้นที่ระวางขนส่งสินค้าทางอากาศโดยตรง
นอกจากนี้ ตลาดการขนส่งสินค้าทางเรือก็ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มสร้างความวิตกกังวลตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่ระวางสินค้าเริ่มมีปริมาณจำกัด ตู้สินค้าเริ่มขาดแคลน และการขนส่งที่ล่าช้าเริ่มกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมฯ ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์เรือขนส่งสินค้าขวางคลองสุเอซก็ได้เพิ่มความรุนแรงต่อวิกฤติในอุตสาหกรรมฯ เป็นอย่างมาก โดยเหตุการณ์นี้ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือเกิดการติดขัดและคั่งค้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ซัพพลายเชนที่อยู่ในภาวะตึงเครียดอยู่แล้วให้แย่เข้าไปอีก
ความไม่สอดคล้องของอุปสงค์และอุปทาน
ในขณะที่ซัพพลายเชนการขนส่งยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้ปริมาณพื้นที่ระวางสินค้าที่ลดลง แต่ปริมาณความต้องการขนส่งกลับพุ่งสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ความต้องการในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และเภสัชภัณฑ์เท่านั้น แต่ความต้องการด้านการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นไม่แพ้กัน อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ ซึ่งอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมฯ ที่ไม่สอดคล้องกันนี้ได้ส่งผลให้อัตราค่าบริการขนส่งสินค้าทางเรือพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
CNBC รายงานว่าในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2020 จนถึงเดือนมกราคม 2021 อัตราค่าขนส่งสินค้าจากจีน ไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปทะยานขึ้นสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ โดย Shanghai Container Freight Index ซึ่งเป็นดัชนีอัตราค่าขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศจีนที่มีการใช้งานมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือระบุสถิติการขนส่งสินค้าในเส้นทางระยะไกลจากทวีปเอเชีย ดัชนีดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าอัตราค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2021 โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอัตราค่าขนส่งก็ได้พุ่งสูงขึ้นอีกรอบ จนทำลายสถิติเดิม และคาดว่าจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอีกในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราค่าปฏิบัติการขนส่งกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากข้อมูลในตลาดและรายงานหลายฉบับในอุตสาหกรรมฯ ชี้ให้เห็นว่าอัตราค่าขนส่งจะยังคงเป็นไปตามแนวโน้มนี้ ไปจนถึงสิ้นปี 2021 เป็นอย่างต่ำ เนื่องจากวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบสำหรับการผลิตสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการขนส่งจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าทางเรือ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลต่อต้นทุนของทุกฝ่ายตลอดซัพพลายเชนอีกด้วย
การจัดการความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนในซัพพลายเชน
Dachser ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ระดับโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้ามากกว่า 90 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความพร้อมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยบริษัทฯ ได้คอยดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะแปรผันมากเพียงใด บริษัทฯ จะสามารถดูแลจัดการซัพพลายเชนของลูกค้าให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยควบคุมต้นทุนของลูกค้าให้ไม่เกิดความผันผวนอีกด้วย
“ตั้งแต่สถานการณ์ COVID-10 ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เราตระหนักถึงความผันผวนของตลาดจะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในทันที ทีมฝ่ายขายของเราจึงคอยประสานงานติดต่อกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการวางแผนระยะสั้นร่วมกันกับลูกค้าในการยืนราคาแม้ในสถานการณ์ความผันผวนของตลาด ซึ่งการที่เราแนะนำให้ลูกค้าวางแผนล่วงหน้าเช่นนี้ ทำให้ลูกค้ามีเวลามากพอสำหรับการปรับเปลี่ยนและประเมินสถานการณ์ใหม่ได้อย่างทันท่วงที” คุณอุมาภรณ์ ลิมปิพิพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายขาย Dachser Air & Sea Logistics ประเทศไทย กล่าว
แบบสำรวจครั้งล่าสุดจาก Deloitte* หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการโดยอ้างอิงจากความสามารถในการคาดการณ์ได้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประธานบริหารฝ่ายจัดซื้อจัดหา (CPO) อย่างไรก็ตาม มี CPO เพียง 22 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่สามารถระบุและคาดการณ์ความเสี่ยงได้โดยอิงจากการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ด้วยข้อมูลที่ตนมี และจากตัวเลขเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยนี้เอง ที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้บริการจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีความเป็นมืออาชีพนั้นมีความสำคัญมากเพียงไร
คุณอุมาภรณ์ กล่าวต่อว่า “บริษัท Dachser มีโพรดักทีมที่แข่งแกร่ง ทั้งในตลาดระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี การทำงานร่วมกันเป็นทีม และประสานงานกันอย่างใกล้ชิดภายในบริษัทฯ ช่วยให้เราสามารถส่งข่าวสารการอัพเดตล่าสุดให้แก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้มีความสำคัญอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนและงบประมาณของลูกค้าโดยตรง เพราะข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถนำเสนอพื้นที่ระวางสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
คุณอุมาภรณ์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “บริการของเราไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า แต่เรายังสามารถนำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ในตลาดและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้า ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรมฯ เราจึงมีการวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ให้กับลูกค้าของเรา นำเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ด้วยแผนภาพตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งการนำเสนอที่เห็นภาพได้ชัดเจนนี้ จะช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการเปรียบเทียบต้นทุนและความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เรายังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกที่เราเชื่อมั่นว่าจะคุ้มค่าต่อต้นทุนมากที่สุดให้แก่ลูกค้าแต่ละรายด้วย”
จุดโฟกัสที่เปลี่ยนไปในกระบวนการจัดซื้อ
สำหรับภาคธุรกิจโลจิสติกส์ ความสามารถในการจองปริมาณพื้นที่ระวางสินค้าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพื่อการันตีว่าการขนส่งสินค้าจะเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดซัพพลายเชน โดยการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดสรรพื้นที่ระวางที่เกิดขึ้นล่าสุดในหลายเส้นทางการค้าได้ส่งผลกระทบรุนแรงตลอดซัพพลายเชน ทำให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์เกิดการสลับขั้ว เปลี่ยนจากตลาดของผู้ซื้อไปเป็นตลาดของผู้ขาย ที่เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่มีพื้นที่ระวางพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกลับไปเหมือนเดิมก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่หรือไม่ หรืออาจจะเป็นได้ทั้งสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย และการเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ขนส่งและผู้รับสินค้าจำนวนมากต่างก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวเกิดขึ้น
สำหรับมาตรการในการป้องกันสำหรับส่วนงานปฎิบัติการอันเกิดจากปัญหาความผันผวนของพื้นที่ว่างสำหรับขนส่ง บริษัท Dachser ได้เข้าร่วมโครงการ Space Protection Program ร่วมกับพันธมิตรสายการเดินเรือซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการให้บริการขนส่งที่ต่อเนื่องและราบรื่นในเส้นทางการค้าหลักต่างๆ โดยเฉพาะในเส้นทางการค้าไปยังยุโรป โดยโครงการนี้จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถให้บริการขนส่งสินค้าที่เชื่อถือได้ แม้ในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นวิกฤติในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีการรับประกันพื้นที่ระวางสินค้าที่แน่นอนสำหรับขนส่งสินค้าทางอากาศ บนเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปยัง Frankfurt ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็มีพื้นที่ระวางสินค้าที่ทำการจองไว้ล่วงหน้าบนเรือขนส่งสินค้า จากกรุงเทพฯ ไปยัง Hamburg ด้วย
อนึ่ง ผลจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อหลายรายไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนเป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป แต่หันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่ระบบดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
“เราพยายามกระตุ้นให้ลูกค้าของเราหันมาส่งข้อมูลการขนส่งสินค้าผ่านระบบ EDI อยู่เสมอ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังนำเสนอโซลูชันแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้กระบวนการที่ได้มาตรฐานโลก คอยให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในซัพพลายเชน” Mr. Jan-Michael Beyer กรรมการผู้จัดการ Dachser Air & Sea Logistics ประเทศไทย กล่าว “เราได้ดำเนินการก่อตั้งระบบการจัดซื้อจัดจ้างและการกระจายสินค้าที่มั่นคงสำหรับเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางถนนในยุโรป นอกจากนี้ เรายังมีโซลูชันคลังสินค้าคอยให้บริการตามความต้องการของลูกค้าอีกด้วย การที่บริษัทฯ เลือกใช้บริการในเครือข่ายโลจิสติกส์ของเราเอง ทำให้เราสามารถควบคุมกระบวนการโลจิสติกส์โดยรวมได้เป็นอย่างดี เพื่อลดความไม่แน่นอนในกระบวนการขนส่ง การให้บริการโลจิสติกส์ทุกขั้นตอนจะได้รับการจัดการผ่านซอฟท์แวร์ Othello ซึ่งเป็นระบบการจัดการการขนส่ง (TMS) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานภายในบริษัทฯ โดยที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบและติดตามกระบวนการขนส่งได้ ผ่านระบบ eLogistics เพื่อตรวจสอบตำแหน่งและสถานะของสินค้าได้แบบเรียลไทม์”
เตรียมความพร้อม
ปัจจุบัน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยังไม่ได้รับการแก้ไขและคาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อไปอีกในอนาคต โดยไม่อาจทราบได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้การคาดการณ์ในปีนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก พร้อมปัญหาด้านความล่าช้าของการขนส่งและภาวะการขาดแคลนพื้นที่ระวางที่จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล อย่างไรก็ตาม ทั้ง Mr. Beyer และคุณอุมาภรณ์ ก็ได้มีข้อแนะนำที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ส่งออก ในการยกระดับความสามารถในการฟื้นฟูซัพพลายเชนของตนให้กลับมาเป็นปกติ ดังนี้
- ปรึกษาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เชื่อถือได้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดเชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการโดยอิงจากข้อมูลคาดการณ์ทางการตลาด
- ร่วมมือกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์อื่นๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูล เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้มากขึ้น
- วางแผนการขนส่งสินค้าล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ยิ่งข้อมูลปริมาณสินค้าที่วิเคราะห์มีความถูกต้องมากเท่าใด โอกาสในการจองพื้นที่ระวางอย่างมีประสิทธิภาพก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
- กำหนดแผนการรับมือกับสถานการณ์อย่างเป็นไปได้จริงและกำหนดแผนฉุกเฉินร่วมกับซัพพลายเออร์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์
- ทำให้โหมดการขนส่งและเครื่องมือในการขนส่งสินค้ามีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ พิจารณาความเป็นไปได้ในการขนส่งแบบ LCL ซึ่งมีความเสี่ยงไม่เท่ากับการขนส่งแบบ FCL ซึ่งกำลังประสบปัญหาความล่าช้าอย่างมากในปัจจุบัน
“ความน่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ได้ดีที่สุดในภาวะวิกฤติ และ Dachser มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เราสามารถก้าวผ่านความท้าทายไปด้วยกันกับลูกค้าในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทั้งนี้ ลูกค้าของเรามีความพึงพอใจกับการเข้าถึงลูกค้าของ Dachser ด้วยการเป็นเสมือนเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษา เพราะเราไม่เพียงแต่ให้บริการด้านการจัดการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่เรายังช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้แก่ลูกค้าแต่ละราย และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโซลูชันโลจิสติกส์แบบครบวงจรอีกด้วย ถึงแม้ว่าบางครั้งการขนส่งสินค้าโดยใช้ตัวเลือกที่ดีกว่าอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่มากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว ระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่าและเชื่อถือได้ก็นำมาซึ่งความคุ้มค่าต่อต้นทุนการขนส่งที่สุด และเรายังคงมองในแง่ดีว่า อีกไม่นานเราจะกลับไปสู่ช่วงเวลาที่สามารถคาดการณ์การตลาดได้เหมือนเดิม ในอนาคตอันใกล้นี้” Mr. Beyer กล่าวเสริม
*Deloitte Global Chief Procurement Officer Survey 2021 (แบบสำรวจหัวหน้าเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดหาจากทั่วโลกของ Deloitte ปี 2021)
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่