TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนกันยายน 2024 เชื่อมั่นส่งออกไทยปี 2024 โตมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

0
74

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน ปี 2024 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.1 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 889,074 ล้านบาท หดตัว 0.8 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัว 3.1 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 886,336 บาท ขยายตัว 7.8 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกันยายน ปี 2024 เกินดุลเท่ากับ 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกินดุลในรูปของเงินบาท 2,738 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 223,176 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,957,895 ล้านบาท ขยายตัว 8.6 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กันยายน ขยายตัว 4.2 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 229,132.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,264,589 ล้านบาท ขยายตัว 10.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 5,956.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 306,694 ล้านบาท

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกปี 2024 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ 2) ดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PM) ที่ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ 3) ปัจจัยเฝ้าระวังที่ส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต อาทิ ค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวน แม้ว่าจะอ่อนค่าลงมาเล็กน้อยจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด ขณะที่ FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลที่เริ่มผ่อนคลายและปรับลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้าและมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังหลายสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเปลี่ยนแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนธันวาคมจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวในหลายตลาดสำคัญ ขณะที่ความยืดเยื้อของสงครามในตะวันออกกลางยังคงคุกรุ่นเป็นระยะและส่งผลให้ทิศทางราคายังคงมีความผันผวน และ 4) มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ การยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดียที่กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวในไทย การเลื่อนการบังคับใช้ EUDR ออกไปยังปี 2026 ซึ่งกระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1) เฝ้าระวังค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางและความไม่แน่นอนของการเจรจาค่าแรงในท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดการขนส่งสินค้าทางทะเล และความพยายามของสายการเดินเรือที่จะปรับเพิ่มค่าระวางในเดือนพฤศจิกายน 2) เฝ้าระวังความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน รวมถึงรักษาเสถียรภาพการเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป และ 3) เร่งรัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรีและการทำข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางการค้า


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้CORTEN SHIPPING (Thailand) จัดพิธีเปิดสำนักงานแห่งแรกในไทย
บทความถัดไปHapag-Lloyd ลงนามสั่งซื้อกองเรือขนส่งตู้สินค้าชุดใหม่ 24 ลำ
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend