TNSC คาด ส่งออกติดลบ 8 เปอร์เซ็นต์ วอนรัฐพยุงเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ

0
1231

คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) แถลงข่าวการส่งออกเดือนเมษายน 2020 เมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2020 มีมูลค่า 18,948 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 613,979 ล้านบาท ขยายตัว 5.32 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนเมษายน 2020 มีมูลค่า 16,486 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 17.13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าในรูปเงินบาทมีมูลค่า 541,019 ล้านบาท หดตัว 14.61 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ เดือนเมษายน 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 72,960 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกของเดือนเมษายนหดตัว 7.53 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ TNSC คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 หดตัว 8 เปอร์เซ็นต์ บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2020 เท่ากับ 31.81 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.8 – 32.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1) การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารที่มีภาพรวมการขยายตัวได้ดีในช่วงการระบาดของ COVID-19 จากความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ 2) การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ภายในประเทศ ทำให้ระบบการผลิต ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ และ 3) การส่งออกทองคำ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยดึงตัวเลขภาคการส่งออกให้มีการขยายตัวในช่วงสถานการณ์ความไม่นอนของการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของการระบาดในระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่อง 2) ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่า 3) ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้ง และ 4) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้ง

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาข้อมูลวิจัย และหารือร่วมกับสมาคมการค้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ในประเด็นการเข้าร่วมเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) และเห็นว่าประเทศไทยควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และไม่สามารถเจรจาแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Hamburg Süd ส่งตู้สินค้าลวดลายพิเศษออกเดินทางให้ทั่วโลกได้ยลโฉม
บทความถัดไปTT Club ชี้ประเด็นความเสี่ยงจากกรณีสินค้าคงค้างสะสม
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.