ปัจจุบันการพัฒนาภายใต้แนวคิดความยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่างให้ความสำคัญ ซึ่งเราจะเห็นได้จากหลายองค์กรมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Drive) การใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Backhaul and Full Truck Load) การปรับรูปแบบการขนส่งไปสู่รูปแบบการประหยัดพลังงาน (Modal Shift) หรือแม้กระทั่งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Eco-Packaging)
สำหรับการให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบ Eco-Packaging มุ่งเน้นการใช้วัสดุในการบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ และหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องคำนึงถึงในการเลือกวัสดุที่นำมาใช้บรรจุภัณฑ์ คือ ความสามารถในการปกป้องสินค้าภายในบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ถ้าหากไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสินค้าระหว่างการขนส่ง เพราะหากสินค้าเกิดความเสียหายก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ทั้งต้นทุนด้านการขนส่งและการผลิต
LM ได้รับเกียรติจากคุณนงนุช ปโยนิธิการ ผู้อำนวยการอาวุโสเชิงพาณิชย์ บริษัท บีเจซี กลาส (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการให้บริการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ว่ามีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างไรบ้าง
Helping the Environment
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการให้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงการดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ตลอดจนถึงการส่งมอบสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค
คุณนงนุช ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เราให้ความสำคัญเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตบรรจุภัณฑ์ มีการควบคุมและตรวจสอบกรรมวิธีการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย และขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งเรายังมีการส่งเสริมกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม จนได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จากกระทรวงอุตสาหกรรม และได้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001:2015”
ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มมีการนำบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วมาใช้ในการบรรจุสินค้าเป็นหลัก ด้วยคุณสมบัติเด่นในด้านการเก็บรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดี และผู้บริโภคเองก็สามารถมองเห็นตัวสินค้าที่บรรจุภัณฑ์ได้ชัดเจนกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น
“ด้วยกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว แม้จะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่กลับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon footprint life cycle assessment) น้อยกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ และที่สำคัญคือเราสามารถนำเศษแก้วมากกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ มาผสมเป็นวัตถุดิบเพื่อไปหลอมทำเป็นขวดใหม่ได้ โดยปราศจากอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งการนำเศษแก้วกลับมาใช้นี้สามารถช่วยลดปริมาณขยะและมีส่วนช่วยประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย”
“นอกจากนี้ เรายังมีการนำแนวคิด Lean Six Sigma มาใช้ในการทำงาน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการสูญเสียในขั้นตอนต่างๆ ประกอบกับมีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ทำให้เราสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกส่วนหนึ่ง” คุณนงนุช อธิบายเพิ่มเติม
อีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึง นั่นคือ การเลือกวัสดุที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานมาใช้ในการผลิต เพราะหากนำบรรจุภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานมาให้บริการ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการตลอดซัพพลายเชน อาจทำให้ต้องมีการผลิตใหม่อีกครั้ง (re-process) และหากมีการกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคแล้ว อาจต้องมีการเรียกเก็บคืนสินค้าหรือทำลายทิ้ง ก็จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร รวมทั้งเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
Customer Needs
คุณนงนุช เปิดเผยว่า “ปัจจุบันผู้บริโภคนอกจากต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีความต้องการบริการด้านอื่นๆ เช่น บริการจัดส่งสินค้าและบริการหลังการขายที่ดีและรวดเร็ว โดยที่ยังคงค่าใช้จ่ายเท่าเดิม”
“เราให้บริการบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer packaging) สองรูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความเหมาะสมของสินค้าและธุรกิจ โดยรูปแบบแรกคือ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ (returnable) และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้เพียงครั้งเดียว (one way)”
นอกจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว การลงทุนด้านเทคโนโลยีก็เป็นอีกส่วนจำเป็นที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและช่วยลดต้นทุนให้แก่ลูกค้าด้วย
“เรามีโอกาสร่วมงานกับพันธมิตรที่เป็นผู้นำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วระดับโลก ซึ่งนอกจากจะได้รับเทคโนโลยีด้านการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัยแล้ว เรายังแสวงหาเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก เราได้มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาร่วมใช้ในกระบวนการผลิต ที่นอกจากช่วยด้านประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ยังทำให้เราสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน สามารถปกป้องสินค้าของลูกค้าไม่ให้เกิดความเสียหายระหว่างการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งยังสามารถนำมาจัดวางทับซ้อนกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
Packaging for the Future
จากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การเพิ่มผลการผลิต และลดการสูญเสียในการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้งานและคงคุณภาพสินค้าให้มีความสมบูรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งระยะไกลให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
โดยบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ หรือ Smart Pack-aging เป็นแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีการนำนวัตกรรมการควบคุมหรือปกป้องมาผสมผสานกับคุณสมบัติพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถยืดอายุสินค้า เก็บสินค้าไว้ได้นานขึ้น และสามารถขนส่งสินค้าไปยังปลายทางระยะไกลได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการใช้สารประกอบในการควบคุมบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ก๊าซต่างๆ โดยเฉพาะก๊าซออกซิเจน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาหารเน่าเสียง่าย นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์แบบ Smart Packaging ยังช่วยป้องกันสิ่งปนเปื้อนระหว่างการขนส่งสินค้าอีกด้วย
สำหรับแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์เพื่ออนาคต การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากเป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์ควรคำนึงถึงด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากเป็นการช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ลดความสูญเสียของสินค้าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้า เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก
Published on Logistics Manager (LM) Magazine: 15th August 2018
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่