เมื่อเอ่ยถึงตู้สินค้า SOC (Shipper Owned Container) และ COC (Carrier Owned Container) ตามคำนิยามนั้น อาจจะไม่ได้คำตอบอะไรมากไปกว่าสิทธิความเป็นเจ้าของตู้สินค้า ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของผู้ส่งสินค้า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า หรือสายการเดินเรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ความหมายโดยทางปฏิบัติของตู้สินค้าทั้งสองประเภทนี้ มีรายละเอียดมากกว่าเพียงความหมายตามคำนิยาม ซึ่งผู้ส่งสินค้าควรทราบก่อน เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกใช้งานอย่างคุ้มค่า

LM ได้รับเกียรติจากคุณสมพงษ์ มณีนาคาฤทธิ์ ผู้บริหารฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท OCEAN BLU SHIPPING LINES (THAILAND) LTD. ผู้ให้บริการตัวแทนขนส่งสินค้า และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบ NVOCC มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตู้สินค้า SOC/COC เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้อ่านทุกท่านในการเลือกใช้ตู้สินค้า

SOC/COC มีที่มาอย่างไร

แม้ว่าตู้สินค้าทั้งสองประเภทจะมีหน้าที่หลักในการบรรจุสินค้าเหมือนกัน แต่การนำตู้สินค้าไปใช้งานในจุดประสงค์ที่ต่างกัน ทำให้แนวทางในการใช้งานตู้สินค้าทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันตามไปด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตู้สินค้าส่วนใหญ่ที่มีการหมุนเวียนใช้งานกันอยู่ทั่วโลกนั้นเป็นตู้สินค้าของสายการเดินเรือหรือ COC แต่ก็ยังมีตู้สินค้าอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นสินทรัพย์ของผู้ส่งสินค้าเอง คำถามก็คือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ส่งสินค้าเลือกที่จะซื้อตู้สินค้าหรือเลือกใช้งานตู้สินค้าแบบ SOC ในเมื่อการดำเนินการนั้นมีความยุ่งยากตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน นอกเหนือไปจากการซ่อมบำรุงตู้สินค้าแล้ว สายการเดินเรือแต่ละรายจะมีการจัดสรรพื้นที่ในการจัดวางและขนย้ายตู้สินค้าเมื่อมาถึงท่าเรือปลายทาง จึงต้องมีการกำหนดช่วงเวลาในการใช้ตู้สินค้า รวมไปถึงพื้นที่ในลานตู้สินค้าอย่างชัดเจน หากเกินกว่านี้ก็จะมีค่าปรับเกิดขึ้น เหตุที่ต้องมีการกำหนดระยะเวลาและค่าปรับนี้ ก็เนื่องมาจากสายการเดินเรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายภายในลานตู้สินค้าทั้งหมด ที่สำคัญคือตู้สินค้านั้นจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเมื่อถูกนำไปบรรจุสินค้าและดำเนินการขนส่ง หากลูกค้ามีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถรับและคืนตู้สินค้าได้ในเวลาที่กำหนด ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อสายการเดินเรือ จากการที่ไม่สามารถใช้งานตู้สินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และตัวลูกค้าเองก็ต้องเสียค่าปรับตามที่สายการเดินเรือเรียกเก็บ ด้วยเหตุผลดังนี้ เจ้าของสินค้าจึงต้องชั่งน้ำหนักว่า ควรมีตู้สินค้าเป็นของตัวเองหรือไม่

สำหรับประเทศไทย ผู้ให้บริการตู้สินค้าแบบ SOC หรือที่รู้จักกันว่า Box operator จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการตู้สินค้า SOC ก่อน โดยแบ่งเป็นผู้ให้บริการในฐานะผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Forwarders) และผู้ให้บริการแบบ NVOCC

ความเชื่อมั่นในคุณภาพบริการ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งสินค้าเลือกใช้บริการจากสายการเดินเรือเป็นประจำ แต่เมื่อมีผู้ส่งสินค้าหน้าใหม่สนใจใช้บริการขนส่งกับสายเรือชั้นนำระดับโลก การเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างรวดเร็วนั้นกลับเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากการจัดสรรพื้นที่ระวางสินค้าบนเรือไปยังปลายทางต่างๆ จะต้องมีการคำนึงถึงความคุ้มค่าอยู่หลายปัจจัย ผลคือการดำเนินการจองและประกันพื้นที่ระวางบนเรือนั้นจะใช้เวลามากกว่าเมื่อเทียบกับการจองพื้นที่ระวางกับ Box operator แบบ NVOCC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดหาพื้นที่ระวางอย่างรวดเร็ว หากผู้ส่งสินค้าต้องการส่งสินค้าในปริมาณไม่มาก ไปยังปลายทางจำเพาะ Box operator ก็สามารถจัดหาตู้สินค้า SOC สำหรับขนส่งสินค้าไม่เต็มตู้ (LCL) และจัดหาพื้นที่ระวางบนเรือซึ่งเข้าเทียบท่าที่ต้องการ พร้อมมอบบริการขนส่งด้วยโหมดการขนส่งอื่นๆ เช่น การขนส่งภาคพื้นด้วยรถบรรทุก ไปยังปลายทางได้ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาที่ใช้ตู้สินค้าอีกด้วย

SOC/COC เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ตู้สินค้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรทุกสินค้าไปตลอดการขนส่ง ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะใกล้หรือไกล หรือต้องผ่านการเดินทางที่ซับซ้อนเพียงใด คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ตู้สินค้าทุกประเภทต่างมีเหมือนกัน

ทว่าตู้ COC เป็นตู้สินค้าที่ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าหรือสายการเดินเรือเป็นเจ้าของ และมีสิทธิ์ในการจัดการตู้สินค้าได้ตลอดการขนส่ง ซึ่งมักจะถูกใช้งานในการขนส่งสินค้าโดยทั่วไป และเป็นตู้สินค้าส่วนใหญ่จากตู้สินค้าจำนวนกว่าหลายล้านทีอียู ที่หมุนเวียนใช้งานอยู่ทั่วโลก โดยผู้ส่งสินค้าที่ใช้ตู้ COC จะต้องจ่ายค่าบริการให้สายการเดินเรือเป็นผู้ดูแลตลอดการขนส่ง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของสายการเดินเรือในการรับและคืนตู้สินค้า

ในทางตรงกันข้าม ตู้ SOC เป็นตู้สินค้าที่ผู้ส่งสินค้าสามารถบริหารจัดการเวลาเองได้ โดยไม่มีข้อกำหนดในการใช้ตู้สินค้าจากสายการเดินเรือ ซึ่งผู้ส่งสินค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ตู้ SOC โดยการซื้อหรือทำสัญญาเช่าจากผู้ให้บริการ ได้แก่ สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการแบบ NVOCC หรือตัวแทนขนส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของตู้สินค้านั้น สามารถจำแนกได้จากรหัสตู้สินค้าที่แตกต่างกัน

เพื่อยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ในการขนส่งเครื่องจักรสำหรับนำไปติดตั้งในโรงงานซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะไม่สามารถติดตั้งเครื่องจักรได้จนกว่าอาคารและโครงสร้างพื้นฐานจะแล้วเสร็จ  แน่นอนว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือ การรอให้การก่อสร้างอาคารทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์เสียก่อน จึงค่อยจัดส่งเครื่องจักรไปยังปลายทาง แต่ก็มีหลายกรณีที่เครื่องจักรจำเป็นต้องถูกนำส่งไปตั้งรอที่ปลายทางก่อนที่กระบวนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ซึ่งในบางครั้งต้องพักสินค้าเอาไว้ในตู้สินค้าเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือมีเหตุที่ทำให้กระบวนการก่อสร้างล่าช้า ก็ย่อมเป็นการคุ้มค่ามากกว่าที่เจ้าของสินค้าจะเลือกใช้ตู้สินค้าของตัวเองในการเก็บและพักสินค้าเอาไว้เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับรายวันให้กับสายการเดินเรือ

ทั้งนี้ ในบางกรณีที่เจ้าของสินค้าต้องการนำตู้สินค้าไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การนำไปดัดแปลงเป็นที่พักสำหรับพนักงาน รวมทั้งในกรณีของผู้ให้บริการแบบ NVOCC ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสายการเดินเรือ แต่ไม่มีกองเรือเป็นของตัวเอง โดยอาศัยการทำสัญญาจองระวางสินค้าปริมาณมากกับสายการเดินเรือต่างๆ สายการเดินเรือก็จะถือว่าตู้สินค้าของผู้ให้บริการแบบ NVOCC นั้นเป็นตู้ SOC ซึ่งผู้ให้บริการฯ​ มีอิสระในการบริหารจัดการกองตู้สินค้าของตัวเองอย่างเป็นเอกเทศ

SOC/COC อะไรดีกว่ากัน

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การขนส่งสินค้าในบางกรณี อาจจะเป็นการดีกว่าถ้าผู้ส่งสินค้าใช้ตู้สินค้าของตัวเอง แต่เหตุการณ์เช่นนี้นั้นก็เป็นกรณีที่เพาะเจาะจงจริงๆ และเกิดขึ้นไม่บ่อย

หากท่านเลือกใช้ตู้ COC สายการเดินเรือจะคำนวณค่าบริการในการจัดการตู้สินค้าที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงท่าเรือปลายทางให้ท่านอย่างเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ ท่านจะไม่มีภาระในการจัดการและดูแลตู้สินค้าเพิ่มเติม เพียงแต่ต้องรับและส่งคืนตู้สินค้าตามเวลาที่กำหนดในสภาพที่สมบูรณ์

อนึ่ง โดยส่วนใหญ่แล้ว สายการเดินเรือจะกำหนดการรับและคืนตู้สินค้าเป็นระยะเวลารวมกันหกวัน โดยผู้รับสินค้าที่ปลายทางมีเวลาในการรับและดำเนินพิธีการต่างๆ สำหรับตู้สินค้าภายในท่าเรือทั้งหมดสามวัน (Demurrage) หลังจากที่เรือสินค้าเดินทางมาถึง และหลังจากที่ท่านนำตู้สินค้าออกจากท่าเรือแล้ว ก็จะต้องส่งคืนตู้สินค้าเปล่าให้กับสายการเดินเรือภายในเวลาสามวัน (Detention) ซึ่งโดยปกติ หากปลายทางสินค้าอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือหรือลานตู้สินค้ามากนัก ก็แทบจะไม่มีค่าปรับเกิดขึ้น

ส่วนข้อดีของการใช้ตู้ SOC คือ ท่านไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องการรับและคืนตู้สินค้า และค่าปรับต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญหากปลายทางขนส่งสินค้านั้นอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่จำเพาะ หรือกรณีที่ต้องพักสินค้าเอาไว้ในตู้สินค้าเป็นระยะเวลายาวนาน โดยปัจจุบัน การเป็นเจ้าของตู้สินค้าก็ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งยังมีตัวเลือกให้ซื้อหรือเช่าตามช่วงเวลาที่ต้องการได้

การเลือกใช้ตู้สินค้า SOC/COC นั้นจะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อท่านได้คำนึงถึงจุดประสงค์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งอย่างรอบด้าน ตู้ COC ถือเป็นตัวเลือกในการใช้ตู้สินค้าที่สะดวกมากที่สุด ทั้งในด้านการลดภาระการจัดการและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ในทางกลับกัน หากท่านทราบดีว่าไม่สามารถทำตามข้อกำหนดในการใช้งานตู้สินค้าของสายการเดินเรือได้ การเลือกใช้ตู้สินค้าแบบ SOC อาจจะตอบโจทย์การขนส่งสินค้าของท่านและเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดได้เช่นกัน

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ONE เสริมบริการเรือถ่ายลำสินค้าในสแกนดิเนเวียและบอลติก
บทความถัดไปบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำคัญต่อโลกและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างไร?
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.