EXIM BANK เตือนผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงในช่วง COVID-19

0
2461

คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (หดตัวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป) นับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2009 โดย EXIM BANK คาดว่า ปี 2020 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ EXIM Bank ยังได้อ้างถึงการคาดการณ์ของ Euler Hermes บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลกว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โอกาสธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ด้วยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SME ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มาก ต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจาก COVID-19 อาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ส่งผลให้เกิดการชำระเงินล่าช้าหรือผิดนัดชำระเงิน

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2020 (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท ทำให้มีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226 เปอร์เซ็นต์ จาก 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย

“EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญในการช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนาบริการประกันการส่งออก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจ SME มานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ปี 1994 ให้ความคุ้มครองธุรกิจส่งออกไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.37 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการ ผลิต และส่งออกสินค้าและบริการให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด แม้ในภาวะวิกฤตที่ยังมีโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ” คุณพิศิษฐ์กล่าว

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำคัญต่อโลกและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างไร?
บทความถัดไปMSC เปิดประตูการขนส่งอโวคาโดจากโคลอมเบียสู่จีน
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.