อุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้น หากกล่าวโดยย่อ ก็ต้องบอกว่าเป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนอย่างมาก การเคลื่อนย้ายสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และความต้องการสินค้าอย่างรวดเร็วโดยไร้ข้อผิดพลาดของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับซัพพลายเชน
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ ระบบอัตโนมัติได้กลายเป็นความหวังใหม่ของผู้คนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Swisslog ก็ได้พัฒนานวัตกรรมของตนเองมาเป็นเวลาหลายปี จนได้รับการยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกการให้บริการโซลูชั่นด้านระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
เพื่อให้เข้าใจในความก้าวล้ำและการทำงานของระบบอัตโนมัติดังกล่าว เราจึงพูดคุยกับ Mr. Koh Seng Teck หัวหน้าแผนก Logistics Automation ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Swisslog
A FOCUS ON ASIA
LM: ก่อนอื่นเราต้องขอขอบคุณที่ Mr. Koh เสียสละเวลามาพูดคุยกับเรา ในขั้นแรกนี้ เราอยากขอให้คุณช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ ให้ผู้อ่านทราบหน่อยครับ
Mr. Koh:ผมเข้ามาทำงานกับ Swisslog ครั้งแรกในปี 1995 และถือว่าเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของ Swisslog ในเอเชีย ต่อมาผมได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก Warehouse and Distribution ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2008 โดยก่อนที่ผมจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งปัจจุบัน ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายขายของ Swisslog Asia ตลอดเวลาที่ผมทำงานกับ Swisslog ผมได้ช่วยให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคงในตลาดเอเชีย รวมถึงสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานกับ Swisslog สำหรับตำแหน่งปัจจุบัน ผมรับผิดชอบฝ่าย Sales and Consulting, Project Realization, Software Development และ Customer Service ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ผมมีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในการออกแบบและติดตั้งระบบจัดการสินค้าอัตโนมัติ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีก เภสัชภัณฑ์ ยาสูบ และธนาคาร
LM: จากประสบการณ์ที่ยาวนานในวงการโลจิสติกส์ คุณคิดว่าวิวัฒนาการใหม่ๆ อย่างเช่น อีคอมเมิร์ซ รวมถึงแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมระบบจัดการอัตโนมัติ
Mr. Koh: ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นการพัฒนาและเติบโตของวงการระบบจัดการอัตโนมัติในหลายอุตสาหกรรม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพให้กับคลังสินค้าหลายแห่งด้วยระบบจัดการอัตโนมัติของเรา ปัจจัยหลักก็คือ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ ตลาดดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงความต้องการพื้นฐานและสมรรถภาพของคลังสินค้าไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้เราได้เห็นว่า ตำแหน่งงานที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลักจำนวนมากกำลังค่อยๆ หายไปจากอุตสาหกรรม และถูกแทนที่ด้วยบทบาทการทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าและปลอดภัยกว่า ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้ปฏิบัติงานก็ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร เพียงแต่มีบทบาทการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม
LM: ด้วยความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานในหลายอุตสาหกรรมและหลายประเทศในเอเชีย คุณบอกเราได้หรือไม่ว่าตลาดเอเชียแต่ละแห่งมีความพิเศษ หรือคล้ายคลึงอย่างไรกันบ้าง
Mr. Koh: ถ้าให้พูดถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมต้องบอกว่าเรามีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคนี้ ตลาดแต่ละแห่งล้วนมีความพิเศษของตัวเองและเราต้องทำงานในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป อย่างประเทศสิงคโปร์มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่และแรงงาน เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น หลายๆ บริษัทต้องรีบปรับตัวโดยนำระบบจัดการอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้มาแทนที่บุคลากร แต่เป็นการทำให้กระบวนการภายในคลังสินค้าสะดวกและง่ายดายขึ้น
ตลาดเวียดนามก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาสร้างผลประโยชน์มากมายให้กับเศรษฐกิจของเวียดนาม และผู้ประกอบการในหลายๆ อุตสาหกรรมก็พยายามทำให้เครือข่ายโลจิสติกส์ของพวกเขาทันสมัยยิ่งขึ้น หลายบริษัทเริ่มสนใจในระบบจัดการโลจิสติกส์อัตโนมัติ และพยายามเพิ่มทักษะให้กับพนักงานของตนเอง
ในมาเลเซีย บริษัทท้องถิ่นเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีและนำระบบจัดการอัตโนมัติเข้ามาใช้ในขั้นตอนการผลิตและกระบวนการจัดการคลังสินค้า พร้อมๆ กับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ และการส่งเสริมจากรัฐบาลในการผลักดันนโยบาย Industry 4.0 โดยรวมแล้วมาเลเซียมีความพร้อมเป็นอย่างมาก และ Swisslog ได้ทำธุรกิจในมาเลเซียมาแล้วกว่า 20 ปี และเรามีโปรเจกต์สำคัญในมาเลเซียหลายโครงการ ซึ่งโครงการที่ใหญ่ที่สุดก็คือ คลังสินค้าระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Clad Rack – ASRS) ขนาด 84,000 แพเล็ต
สำหรับตลาดประเทศไทย เราพบว่ามีความคล้ายคลึงกับมาเลเซียในฐานะประเทศที่กำลังเติบโตและพัฒนาไปข้างหน้า อัตราการนำระบบจัดการอัตโนมัติมาใช้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาแรงงานที่มีฝีมือ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเนื่องจากกระบวนการโลจิสติกส์มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ระบบจัดการอัตโนมัติจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้ให้บริการและลูกค้ามีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย
“ ถ้าให้พูดถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมต้องบอกว่าเรามีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคนี้ ”
TRAINING EXPERTS
LM: แน่นอนว่าระบบจัดการสินค้าอัตโนมัติสามารถนำประโยชน์มากมายมาสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ แต่หากพูดถึงการฝึกฝนพนักงานในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติล่ะ คุณมีวิธีการฝึกอบรมพนักงานในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไรบ้าง
Mr. Koh: เรามีหลักสูตรการอบรมครอบคลุมทั้งการจัดการลูกค้า การปฏิบัติงานและความปลอดภัย ที่มีความทันสมัยที่สุดเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานระบบควบคุมคลังสินค้าอัตโนมัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากการอบรบในห้องเรียนหรือการอบรมภาคปฏิบัติ พนักงานของลูกค้าจะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติในระยะยาว รวมถึงการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและป้องกันระบบล่มได้ นอกจากนี้เรายังมีบริการอบรมลูกค้าเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้งานระบบจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติด้วย
LM: คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการอบรมขั้นพื้นฐาน และระยะเวลาในการอบรมโดยเฉลี่ย ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
Mr. Koh: เรามีหลักสูตรการอบรมมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการอบรมในห้องเรียน การอบรมภาคปฏิบัติ การอบรมความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงานจริง และอื่นๆ อีกมากมาย เราสามารถปรับหลักสูตรของเราให้เหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุด สำหรับเวลาที่ใช้ในการอบรมจะขึ้นอยู่กับทักษะของลูกค้า แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 2 ถึง 3 สัปดาห์ และเราจะมีใบประกาศมอบให้หลังจากกระบวนการอบรมเสร็จสิ้น
LM: การนำเทคโนโลยีระบบจัดการอัตโนมัติใหม่ล่าสุดจากยุโรปมาปรับใช้ในเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่
Mr. Koh: เราได้พัฒนาขีดความสามารถของเราอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้เพื่อให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมที่มีความซับซ้อนให้กับลูกค้า และติดตั้งระบบจัดการคลังสินค้าอันล้ำสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากสำนักงานใหญ่
ความแตกต่างก็คือ ในแต่ละประเทศ เราจะมีทีมติดตั้งระบบที่เปี่ยมประสบการณ์ ทั้งด้านซอฟต์แวร์และการดูแลลูกค้าหลังการขาย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้จากความสำเร็จในการติดตั้งระบบให้กับคลังสินค้ากว่า 30 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ R&D Technology Lab ที่ทันสมัยของเราในมาเลเซีย ก็นับเป็นหนึ่งในจุดสำคัญในการนำเสนอและทดสอบวิธีบริหารจัดการคลังสินค้า ที่สินค้ามีขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี
LM: คุณต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการอบรมใดๆ หรือไม่ เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ
Mr. Koh: แน่นอน แต่ละประเทศล้วนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงเทคโนโลยีคลังสินค้าที่แตกต่างกันด้วย เรามีหลักสูตรการอบรมพื้นฐาน แต่ต้องมีการปรับเนื้อหาบางส่วนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ รวมถึงความต้องการของลูกค้าด้วย สำหรับในประเทศไทย เรามีทีมงานที่ประจำอยู่ในประเทศไทยสำหรับจัดการอบรมและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในไทยได้เป็นอย่างดี
LM: นอกจากหลักสูตรอบรมพื้นฐานแล้ว ยังมีรูปแบบการอบรมหรือการสัมมนาอื่นๆ ที่ Swisslog ให้บริการแก่ลูกค้าอีกหรือไม่
Mr. Koh: เราแบ่งปันและมอบความรู้ด้วยการเป็นวิทยากรบรรยายให้กับผู้นำทางความคิดในงานประชุมหรือสัมมนา หากมีการร้องขอ เราสามารถจัดห้องเรียนฝึกอบรมหรือจัดประชุมแบ่งปันความรู้ให้กับลูกค้า และที่สำคัญที่สุด เรามีการจัดการบรรยายให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เราได้จัดการบรรยายให้กับวิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสิงคโปร์และมาเลเซียในประเด็น Smart Automation, Cold Chain Logistics และ Intralogistics 4.0 ซึ่งแนวทางนี้เราสามารถนำมาปรับใช้กับตลาดประเทศไทยได้ในอนาคต
นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในสิงคโปร์เพื่อเป็นสถานที่ในการพัฒนาความสามารถในการใช้งานระบบ Smart Logistics รวมถึงสนับสนุนการอบรมด้าน Industry 4.0 และ Smart Logistics สำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มีความตระหนักและรับรู้เท่าทันเทคโนโลยียิ่งขึ้น ความร่วมมือนี้มุ่งเป้าไปที่การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เพิ่มพูนความรู้จากการทำงานร่วมกับเทคโลโนยี Smart Intralogistics ของ Swisslog รวมถึงยังเป็นการปูพื้นฐานทักษะทางด้าน Intralogistics เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต
LM: การอบรมครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จและสร้างความประทับใจให้กับคุณมากที่สุด
Mr. Koh: ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องราวการสนับสนุนและให้บริการแก่ Roche บริษัทเภสัชภัณฑ์จากสวิตเซอร์แลนด์ นับตั้งแต่ ปี 1995 Swisslog มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการโลจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งภายหลังได้รับการปรับปรุงให้กลายเป็นคลังสินค้าเย็นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง และเนื่องจากว่าเภสัชภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและมีความอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การอบรมพนักงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก พวกเขาต้องผ่านการอบรบหลักปฏิบัติ GMP และต้องปฏิบัติตามแนวทางการทำงานอย่างเคร่งครัด นั่นทำให้หลักสูตรการอบรมของเราต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับธุรกิจและเทคโนโลยีที่พวกเขานำมาใช้งาน เราจึงพยายามมอบการบริการและหลักสูตรการอบรมในด้านการจัดการสินค้าประเภทเภสัชภัณฑ์ที่ดีที่สุด ซึ่งต้องสามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ และจากการทำงานร่วมกับ Roche มาหลายปี เราก็ได้เรียนรู้และนำประสบการณ์เหล่านั้นไปปรับใช้ในหลักสูตรการอบรมสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และกลายเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของเรา
CONTINUED SUPPORT
LM: อธิบายให้เราฟังหน่อยว่าซอฟต์แวร์ระบบจัดการคลังสินค้า SynQ ของ Swisslog สามารถใช้งานร่วมกับระบบเดิมที่คลังสินค้าแต่ละแห่งมีอยู่แล้วได้อย่างไร SynQ นี้เป็นซอฟต์แวร์แยกต่างหากหรือว่าสามารถทำงานร่วมกับระบบจัดการคลังสินค้าอื่นๆ ได้
Mr. Koh: SynQ ย่อมาจาก Synchronized Intelligence ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เชิงบริหารสำเร็จรูปสำหรับจัดการคลังสินค้าและการจัดการการเคลื่อนที่ของวัสดุ (material flow) ที่สามารถเลือกปรับแต่งได้อย่างอิสระ และติดตั้งแล้วใช้งานได้ทันที โดย SynQ จะรวบรวมระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) การจัดการการเคลื่อนที่ของวัสดุ (MFC/WCS) ระบบควบคุมอัตโนมัติ (ACS) รวมถึงระบบทางธุรกิจอื่นๆ มาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคลังสินค้าให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ SynQ ยังพัฒนาขึ้นภายใต้แนวความคิดในการทำงานแบบอัตโนมัติอย่างครอบคลุม และมีอินเตอร์เฟซมาตรฐานที่สามารถทำงานร่วมกับระบบ ERP จากบริษัทอื่น เช่น ซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า (WMS) หรือซอฟต์แวร์ควบคุมคลังสินค้า (WCS) หรือซอฟร์แวร์ของ Swisslog/KUKA รวมถึงอุปกรณ์อัตโนมัติจากบริษัทอื่นๆ ด้วย
SynQ ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกปรับแต่งระบบได้ตามความต้องการ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ ทั้งยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติ (AGV) หุ่นยนต์ (Robot) รวมถึงผู้คนและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
“ SynQ ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกปรับแต่งระบบได้ตามความต้องการ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ ทั้งยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติ (AGV) หุ่นยนต์ (Robot) รวมถึงผู้คนและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด ”
LM: ปัจจุบันแนวโน้มการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในเอเชียเป็นอย่างไร แล้วคุณคิดว่าทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
Mr. Koh: ลูกค้าขนาดเล็กถึงขนาดกลางมักปฏิบัติงานคลังสินค้าตามแบบดั้งเดิม ซึ่งการปฏิบัติงานด้วยวิธีการนี้มีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่นและการที่ผู้ปฏิบัติงานได้สัมผัสกับสินค้าโดยตรง แต่ก็มีความท้าทายในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพคลังสินค้า แต่ไม่สามารถขยายขนาดของคลังสินค้าได้ การปฏิบัติงานอาจยากลำบากยิ่งขึ้น ในการปฏิบัติการขนาดใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการมองเห็นภาพรวมของคลังสินค้า และการติดตามสินค้าในคลังก็จะเป็นเรื่องยากไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือ ลูกค้าหลายรายเริ่มลงทุนในระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มผลกำไร
LM: ท้ายที่สุดนี้ หากลูกค้าของคุณพบกับปัญหาหลังจากติดตั้งระบบจัดการอัตโนมัติต่างๆ ลงไป คุณมีบริการสนับสนุนหลังการขายอย่างไรบ้าง
Mr.Koh: เรามอบบริการวางแผน สนับสนุน และบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งานของเครื่องจักรและซอฟแวร์โดยทีมงาน Field Service Engineer ในไทยที่สามารถลงพื้นที่ในกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำไม่ว่าจะเป็นบริการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) บริการทีมสนับสนุนด้านการปฏิบัติการระบบที่พร้อมให้บริการตลอดเวลา บริการทีมสนับสนุน (help desk ) และบริการสนับสนุนจากระยะไกล (remote support) ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้เรายังมีคลังอะไหล่สินค้าพร้อมระบบจัดการระดับโลก รวมทั้งบริการปรับแต่งระบบโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายระดับโลก รวมทั้งบริการตรวจตราคุณภาพตลอดเวลา บริการของเรานั้นสามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ เพื่อให้สามารถมอบระบบที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ลูกค้าแต่ละท่าน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่