ปัจจุบัน การสร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถทำได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการพัฒนาความเชื่อใจที่ต้องใช้เวลานานนับปีอย่างในอดีต แม้ว่าความซื่อสัตย์จะยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำเนินการร่วมกันของหลายฝ่าย แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อย่าง เทคโนโลยี blockchain โลกธุรกิจจำเป็นต้องหันกลับมาเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง
Blockchain เป็นเทคโนโลยีการกระจายข้อมูลด้านการบัญชีที่สามารถบันทึกหลักฐานการดำเนินธุรกรรมระหว่างองค์กรหรือบุคคลที่มีความปลอดภัยและยั่งยืน เนื่องจากข้อมูลที่อยู่บน blockchain ทั้งหมดจะมีการลงบันทึกวันเวลาที่แน่ชัด ทำให้ไม่สามารถดัดแปลงหรือปลอมแปลงได้ อีกทั้งยังสามารถระบุตัวตนเจ้าของธุรกรรมการเงินนั้นๆ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลบน blockchain จะเป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงและอัพเดตข้อมูลได้อย่างง่ายดาย แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ใดจะเจาะเข้าสู่ระบบเพื่อโจรกรรมหรือดัดแปลงข้อมูล เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีการจัดเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์หลายเครื่องและมีการสำเนาข้อมูลไว้บนระบบที่เชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
การที่ข้อมูลทางธุรกรรมต่างๆ สามารถใช้งานร่วมกันได้ระหว่างหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นย่อมหมายความว่า blockchain เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาขจัดขั้นตอนการตรวจสอบ การบันทึกข้อมูลซ้ำ และการประสานงานทางธุรกรรมที่ไม่จำเป็นออกไป ดังนั้น การทำงานของ blockchain จึงเป็นการเปลี่ยนจากการรักษาข้อมูลทางธุรกรรมไว้อย่างใกล้ชิดอย่างในอดีต มาเป็นระบบการกระจายข้อมูลไปยังทุกฝ่ายแทน
แม้ว่าในระยะแรก เทคโนโลยี blockchain ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการครอบครองและการค้าเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล แต่หากเรามองให้ลึกลงไปเราจะพบว่า blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับการจัดการซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด blockchain จึงมีโอกาสที่จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนได้ในอนาคต
Challenges and Opportunities
หากลองพิจารณาดูเราจะพบว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยังคงมีช่องโหว่ในด้านความโปร่งใสอยู่มาก โดยสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมฯ นอกจากนี้ ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนหลายๆ ส่วนในอุตสาหกรรมฯ ยังคงเป็นกระบวนการที่ด้อยประสิทธิภาพและยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความโปร่งใส ทำให้การติดตามสถานะชิปเมนท์ในแต่ละส่วนของซัพพลายเชนไม่มีประสิทธิภาพ แต่การนำ blockchain เข้ามาใช้งานจะสามารถช่วยจัดการปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพภายในซัพพลายเชนได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี blockchain ยังจะเข้ามาช่วยพัฒนาในด้านความโปร่งใสของทั้งอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจะนำไปสู่การมีแหล่งข้อมูลจริงเพียงหนึ่งเดียว (single source of truth) โดยข้อมูลทั้งหมดจะกลายเป็นข้อมูลที่มีความยั่งยืน ใช้งานร่วมกันได้ง่าย และช่วยให้ทุกภาคส่วนในซัพพลายเชนสามารถรับรู้และเข้าใจข้อมูลร่วมกันได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ว่าประโยชน์หลักที่สำคัญของ blockchain คือการยกระดับประสิทธิภาพของทั้งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพิ่มสามารถในการจัดการ และลดความขัดแย้งทางข้อมูลภายในอุตสาหกรรมฯ ได้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการนำ blockchain เข้ามาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ก็จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี blockchain สามารถนำมาใช้งานกับ IoT เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ผ่านการทำให้เป็นระบบอัตโนมัติแทน ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็คือเราสามารถยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาในการทำงานลดลง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแผนธุรกิจใหม่ๆ ที่มีคุณค่าต่อบริษัทมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะนำ blockchain เข้ามาปรับใช้งานก็ยังคงมีความท้าทายไม่น้อย ก่อนที่เราจะสามารถปรับใช้ให้เป็นเทคโนโลยีหลักในอุตสาหกรรมฯ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้กำลังในระหว่างการพัฒนา แม้ว่าหลายบริษัทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะเริ่มนำ blockchain เข้ามาทดลองใช้งานแล้ว แต่โดยภาพรวม หากจะนำ blockchain เข้ามาใช้งานเป็นเทคโนโลยีหลักในอุตสาหกรรมฯ ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูง
หนึ่งในความท้าทายหลักก็คือการพัฒนามาตรฐานและขอบเขตในการใช้เทคโนโลยี blockchain ในอุตสาหกรรมฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากซัพพลายเชนระดับโลกนั้นมีความซับซ้อนและแตกต่างกันอย่างมาก การจะปรับใช้ blockchain ได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมฯ
Developing Blockchain
ปัจจุบัน เทคโนโลยี blockchain ยังคงอยู่ในระยะของการพัฒนา และยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นจึงหมายความว่าเทคโนโลยีนี้ยังคงมีความท้าทายหลายประการที่ต้องได้รับการจัดการก่อนที่อุตสาหกรรมฯ จะนำ blockchain เข้ามาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม การที่เทคโนโลยีใหม่นี้ถูกนำไปปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี blockchain มีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาต่อไปอีกจนถึงขีดสุด เนื่องจากเทคโนโลยี blockchain จะช่วยเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และช่วยอำนวยความสะดวก พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการได้ทั่วทั้งซัพพลายเชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งความโปร่งใสในซัพพลายเชน และช่วยให้การทำงานในขั้นตอนต่างๆ เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น
การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญเวอร์ชั่นอัพเดตล่าสุดได้นั้นถือเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะง่ายเหมือนดีดนิ้ว ทุกอย่างต้องมีการพัฒนาการไปตามขั้นตอนเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยี EDI เมื่อหลายปีก่อน การสร้างมาตรฐานจำเป็นต้องใช้เวลา แต่ในที่สุดทุกคนก็สามารถใช้งานและดำเนินการร่วมกันได้ดังเช่นทุกวันนี้
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการปรับใช้เทคโนโลยีย่อมขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อช่วยพัฒนาลำดับขั้นตอนและกระบวนการใช้งานทั้งหมด แน่นอนว่าการปรับรูปแบบแนวคิดหรือการทำงานใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เทคโนโลยีนี้ก็จะนำมาซึ่งคุณค่าอันใหญ่หลวงต่อทั้งซัพพลายเชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับใช้เทคโนโลยี blockchain ประสบผลสำเร็จ
แม้ว่ามาตรฐานการใช้งานเทคโนโลยี blockchain จะยังคงมีการพัฒนาและปรับปรุงกันต่อไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่เตรียมความพร้อม ธุรกิจจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งได้เริ่มพัฒนาและทดสอบคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยี blockchain ในหลากหลายแง่มุมแล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกยังได้เริ่มทำการศึกษากระบวนการปรับใช้กันอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยที่สุด ธุรกิจก็ควรที่จะพิจารณาและศึกษาข้อมูลดูว่า blockchain มีผลกับธุรกิจของตนอย่างไรบ้าง และธุรกิจนั้นๆ วางแผนที่จะปรับใช้และเลือกใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่นี้อย่างไร
เราจะเห็นได้ว่าในอุตสาหกรรมฯ ได้มีการพูดถึงเทคโนโลยี blockchain กันมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการพัฒนาไปข้างหน้าและปรับแนวความคิดในการดำเนินการให้ก้าวทันยุคดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าการจะปรับใช้ blockchain ในอุตสาหกรรมฯ อย่างเต็มรูปแบบจะยังคงมีความท้าทาย อุปสรรค และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ก้าวข้ามผ่าน แต่หากทั้งอุตสาหกรรมฯ ร่วมกันทำงานและสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว การปรับใช้เทคโนโลยี blockchain ในอุตสาหกรรมฯ ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่