นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มคิดค้นการเดินสมุทร การขนส่งทางทะเลก็กลายเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีการใช้ประโยชน์กันมาอย่างยาวนับหลายพันปี โดยในช่วงก่อนทศวรรษ 1950 นั้น กระบวนการขนส่งทางทะเลอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบันยังไม่ถือกำเนิดขึ้น ภาพของคนงานนับร้อยคนที่เดินต่อกันเป็นขบวนคอยลำเลียงสินค้าและสัมภาระนับพันชิ้นขึ้นเรือ ไม่ต่างอะไรกับแถวของมดงานที่ง่วนกับการขนอาหารกลับไปเก็บที่รัง คือภาพที่ทุกคนในท่าเรือเห็นกันจนชินตา และแทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าภาพแบบนี้จะหายไปภายในช่วงเวลาเพียงไม่นาน
แนวความคิดที่เรียบง่ายอย่างคาดไม่ถึง ของ Malcom McLean ได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลแก่อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งหมด นั่นก็คือการคิดค้นกล่องเหล็กใบใหญ่ที่สามารถบรรจุสินค้าเอาไว้ข้างใน อย่างที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ‘ตู้สินค้า’ การเข้ามาของตู้สินค้าได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การปฏิบัติการในท่าเรือไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ นอกจากจะช่วยให้การขนส่งสินค้าลงเรือทำได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสามารถในการบรรทุกสินค้าลงเรืออีกด้วย อีกทั้งการขนถ่าย สินค้าระหว่างเรือ หรือขนส่งต่อไปในโหมดการขนส่งอื่นๆ ก็ง่ายและสะดวกขึ้นอย่างมาก
นับจากวันที่ตู้สินค้าได้กลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งและกระจายสินค้าไปทั่วโลก ก็ยังไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ อันไหนที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงแบบที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีและโลจิสติกส์อีกเลย ในขณะที่พัฒนาการของตู้สินค้า ‘อัจฉริยะ’ เริ่มเข้าสู่ภาวะสุกงอมเต็มพิกัด และนักนวัตกรรมหลายๆ รายเริ่มป่าวประกาศถึงศักยภาพระดับพลิกโฉมอุตสาหกรรมของประดิษฐกรรมของตัวเอง วันนี้เราได้หยิบยกนวัตกรรมล้ำสมัยบางอย่างที่น่าสนใจขึ้นมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก และไม่แน่ว่าหนึ่งในนี้อาจจะกลายเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลในยุคถัดไปก็เป็นได้
Tracking it All
หากคุณเคราะห์ร้ายเคยประสบกับเหตุการณ์สัมภาระสูญหายระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือพัสดุที่คุณส่งทางไปรษณีย์เกิดตกหล่นสูญหายไประหว่างทาง คุณก็คงทราบดีว่าการติดตามหาสิ่งของเพียงชิ้นเดียวท่ามกลางสัมภาระและพัสดุนับพันนับหมื่นชิ้นที่อยู่ระหว่างการเดินทางนั้นยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเป็นสิ่งของที่มีความสำคัญ มีราคาค่างวด หรือมีความหมายต่อการดำเนินธุรกิจ ความเสี่ยงต่อการสูญเสียก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเท่าทวีเช่นเดียวกัน เมื่อหันมาพิจารณาว่าการปล่อยตู้สินค้านับพันตู้ออกสู่กระบวนการขนส่งสินค้าซึ่งอาจต้องกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก การตรวจสอบติดตามตำแหน่งของตู้สินค้าอันเป็นสินทรัพย์ขององค์กรย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยจำนวนมากที่ต้องนำมาพิจารณาในการที่จะสืบหาตำแหน่งของตู้สินค้าแต่ละตู้ในเวลาปัจจุบัน และยิ่งคุณมีปริมาณสินทรัพย์มากเท่าไหร่ ความซับซ้อนของปัญหาก็จะยิ่งทวีความท้าทายมากขึ้นในการตามหาว่าสินทรัพย์เหล่านั้นไปอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดในปัจจุบัน
ในขณะที่เทคโนโลยีการอำนวยความสะดวกระดับบุคคลได้รับการพัฒนาให้เฉลียวฉลาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าก็ได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอด และคาดว่าจะมีการพลิกโฉมทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรมในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมในหลายระดับนอกเหนือไปจากเทคโนโลยีด้านกายภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการข้อมูลในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก็มีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างมากด้วยเช่นกัน จากความสามารถในการติดตามตู้สินค้าและการรวบรวมข้อมูลที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมีทัศนวิสัยในซัพพลายเชนที่โปร่งใสมากขึ้นในการประกอบการตัดสินใจ ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพการบริการและการปรับปรุงประสิทธิภาพของซัพพลายเชนให้มีความกระชับและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเชิงประสิทธิภาพและการเงินในท้ายที่สุด
กล่าวกันว่าการปรับใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนระดับสูง แต่เมื่อพิจารณาเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ในภาพมุมกว้าง การปรับใช้เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยประหยัดต้นทุนให้กับลูกค้าที่ใช้บริการตู้สินค้าทั่วโลกลงได้อย่างมากในการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางทั่วโลกนั้น จำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยธุรกิจรวมไปถึงหน่วยงานและองค์กรภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ยิ่งกระบวนการขนส่งสินค้ามีขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติที่ซับซ้อนมากเท่าใด การสื่อสารเบื้องหลังซึ่งอาจรวมไปถึง โทรสาร อีเมล และการเตรียมและจัดส่งเอกสารต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เทคโนโลยี Blockchain นั้นเปรียบเสมือนสายเชือกนิรภัยที่โยงใยการสื่อสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งก็หมายความว่าผ่านเครือข่ายของเทคโนโลยี Blockchain นี้ กระบวนการสื่อสารต่างๆ ในทุกรูปแบบระหว่างแต่ละหน่วยงานและหน่วยธุรกิจจะถูกขจัดไปแทบทั้งหมด เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งขึ้นสู่เครือข่าย Blockchain และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถได้รับข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดพร้อมกันในทันที
การปรับใช้เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยตู้สินค้าอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่สามารถกำหนดได้ว่าต้องการเปิดเผยข้อมูลใดหรือไม่เปิดเผยข้อมูลใด เช่น การระบุประเภทสินค้า DG, กำหนดการจัดส่งและถึงที่หมาย รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ และอาจเลือกจำกัดการเปิดเผยข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน อย่างเช่น มูลค่าสินค้า สำหรับผู้ใช้บางกลุ่มเป็นการเฉพาะ
โดยสรุป ตู้สินค้าอัจฉริยะที่ได้รับการโยงใยเข้ากับเครือข่ายการสื่อสารผ่านเซ็นเซอร์ เพื่อให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ในแบบเรียลไทม์ รวมไปถึงสามารถสืบทราบสถานะของสินค้าภายใน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องเก็บรักษาในสภาวะควบคุม แนวความคิดอย่าง ‘Physical Internet’ หรือการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีความคล่องตัวในระดับเดียวกับการส่งข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต กำลังกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนให้บริษัทต่างๆ ทดสอบและทดลองการใช้งานตู้สินค้าที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายการสื่อสารในแบบ IoT ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของการติดตามสถานะตู้สินค้า และคาดว่าจะพัฒนาการสู่ขั้นต่อไปในการขนส่งสินค้าบรรจุตู้ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะได้รับการจัดส่งถึงปลายทางเต็มคุณภาพ จำกัดการสูญเสีย สูญหาย และสามารถสร้างสรรค์เครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีความคล่องตัวมากขึ้นได้ในท้ายที่สุด
Thinking Outside the Box
อุบัติการณ์ตู้สินค้าถือเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทั่วโลก และยังเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้การค้าและการพาณิชย์มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการปริมาณสินค้าที่มีความผันผวน และต้นทุนด้านเวลาและการเงินที่ทวีแรงกดดันขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะส่งผลให้รูปแบบและการขนส่งด้วยตู้สินค้าต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการแชร์เครือข่ายโลจิสติกส์และการจัดส่งในเขตเมือง ทั้งยังจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนในรูปแบบการบรรจุหีบห่อเพื่อรองรับการจัดส่งพัสดุย่อยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของการค้าทางออนไลน์หรือ e-Commerce อีกด้วย
ในปัจจุบัน ตู้สินค้าถือได้ว่าเป็นหัวใจของกระบวนการขนส่งสินค้าทางทะเล หากแต่เมื่อพิจารณาว่าตั้งแต่ที่เริ่มต้นใช้งานนวัตกรรมตู้สินค้านี้มาเมื่อหลายทศวรรษก่อน กล่องเหล็กใบใหญ่นี้ก็แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรอีกเลย ในขณะที่กระบวนการขนส่งสินค้าทั่วโลกทวีความซับซ้อนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ตู้สินค้าอัจฉริยะที่สามารถแบ่งเป็นโมดูลย่อยได้ มีความยืดหยุ่น และเชื่อมต่อสถานะกับเครือข่ายการสื่อสารได้อยู่ตลอดเวลา ย่อมสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพทั้งในเชิงปฏิบัติและการติดตามตรวจสอบได้เป็นอย่างดี
มีนักนวัตกรรมและบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากที่กำลังมุมานะเพื่อค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้กับตู้สินค้า หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นคือ แนวความคิดตู้สินค้าแบบพับเก็บได้ โดยเมื่อไม่มีการบรรจุสินค้า ผู้ปฏิบัติการก็จะสามารถพับเก็บตู้สินค้า ซึ่งจะสามารถประหยัดพื้นที่ในการขนส่งตู้สินค้าเปล่าได้อย่างมาก และจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการค้าขายผ่านทางออนไลน์ การจัดสิ่งพัสดุย่อยในเขตเมืองจึงมีการขยายตัวตามไปด้วย และการคิดค้นรูปแบบตู้บรรจุสินค้าที่มีขนาดเล็กลง รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นมาตรฐาน ก็จะสามารถเสริมสร้างความคล่องตัวให้กับการปฏิบัติการโลจิสติกส์ในเขตเมืองตลอดทั้งเครือข่าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนต่อไป เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
รูปแบบการขนส่งโดยตู้สินค้าแบบแบ่งเป็นโมดูลย่อยสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพปฏิบัติการโลจิสติกส์ในเขตเมือง เพิ่มการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการขนส่งรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รวมไปถึงเครือข่ายการขนส่งและจัดเก็บสินค้า โดยประโยชน์ที่ได้รับนั้นจะประกอบด้วยการโหลดสินค้าโดยตรง การรวมกองสินค้าเพื่อลดรอบการขนส่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น รถบรรทุกตู้สินค้าสามารถขนส่งสินค้าไปจนถึงชานเมือง จากนั้นก็จะส่งต่อให้กับโหมดการขนส่งอื่นๆ ที่เหมาะกับการปฏิบัติการในเขตเมือง ซึ่งอาจจะเป็นการขนส่งด้วยจักรยานยนต์หรือแม้แต่จักรยาน มีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการโหลดสินค้าเข้าตู้สินค้าในอนาคต รวมไปถึงพาหนะขนส่งแบบไร้คนขับ และแนวความคิดเรื่องการบรรจุหีบห่อแบบอัจฉริยะก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อสนับสนุนรูปแบบการขนส่งใหม่ดังกล่าว ซึ่งอาจมีประโยชน์ในแง่ของการส่งสินค้าเข้าและการจัดเก็บเพื่อรวมกองสำหรับรอรับการส่งออกต่อไป นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาไปถึงเรื่องของวัสดุหีบห่อที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนด้วย
แนวความคิดเรื่องตู้สินค้าแบบใหม่ รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมฯ และคาดว่าความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มตามมาอย่างต่อเนื่อง โครงการเหล่านี้จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อองค์กรระดับมืออาชีพเริ่มขยายตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมฯ และในช่วงนี้ก็ถือเป็นเวลาที่ดีในการเปิดรับและศึกษาความเป็นไปได้ของนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่