TT Club ชี้ประเด็นความเสี่ยงจากกรณีสินค้าคงค้างสะสม

0
1661

ในขณะที่จีนและหลายประเทศในเอเชียกำลังฟื้นตัวและกลับมาทำการผลิตสินค้าอย่างเต็มกำลัง หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการสินค้าที่ลดลง และสินค้าคงค้างจากคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลให้ปริมาณสินค้าคงคลังสะสมตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับต้นทุนและความต้องการพื้นที่คลังสำหรับจัดเก็บสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

ในการนี้ TT Club ผู้รับประกันและบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ระดับโลก ได้ออกมาชี้ถึงประเด็นความเสี่ยงที่ผู้เกี่ยวข้องควรจับตามอง อันเนื่องจากปริมาณสินค้าคงค้างที่เพิ่มขึ้น

โดยการสะสมตัวของสินค้าคงค้างในที่นี้ นับรวมทั้งสินค้าบรรจุตู้ที่ฝากเอาไว้ที่ท่าเรือถ่ายลำสินค้าและท่าเรือปลายทาง รวมทั้งสินค้าที่จัดเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ซึ่งสมาคมคลังสินค้าแห่งสหราชอาณาจักร (UKWA) ได้คาดการณ์ว่าพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมดจะถูกใช้งานจนเต็มประสิทธิภาพในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้ารายหนึ่งระบุว่า มีการเช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้าสูงขึ้นกว่าปกติถึง 40 เปอร์เซ็นต์

Mr. Michael Yarwood

“การรักษาความปลอดภัย คือประเด็นอันดับหนึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติการที่กำลังมองหาสถานที่จัดเก็บสินค้าเพิ่มเติม” Mr. Michael Yarwood กรรมการผู้จัดการฝ่ายการป้องกันการสูญหายประจำ TT Club กล่าว “ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากอาคารที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดเก็บสินค้า การทิ้งสินค้าเอาไว้หลังรถบรรทุกเนื่องจากคลังสินค้าเต็ม การประสานงานกับผู้ให้บริการที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน ระบบการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่าง รวมไปถึงการสื่อสารกับผู้ให้บริการรถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย”

นอกจากประเด็นทางกายภาพของอาคารเก็บสินค้าชั่วคราวที่อาจไม่ได้มาตรฐาน ก็ยังมีประเด็นเรื่องการจัดเก็บสินค้าพิเศษ อาทิ สินค้าอันตราย สินค้ามูลค่าสูง และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก และยังมีเรื่องของอุปกรณ์ยกขนสินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐาน และความน่าเชื่อถือของพนักงานและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้รับเหมาช่วง ที่อาจไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนอีกด้วย

โดย Mr. Yarwood เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเก็บบันทึกและการตรวจสอบเอกสารการขนส่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า “ในกรณีที่สินค้าถูกนำไปเก็บในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือที่ที่อยู่ห่างไกลจากสถานที่จัดเก็บหลัก การเก็บบันทึกความเคลื่อนไหวของสินค้า เวลาการจัดเก็บ และการเบิกจ่ายสินค้า ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก”

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือและสายการเดินเรือบางราย ยังได้เปิดตัวบริการใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ส่งสินค้า โดยการชะลอระยะเวลาการนำส่งสินค้าไปยังปลายทาง และให้บริการพักตู้สินค้าเป็นการชั่วคราว ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมท่าเรือและท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ (IAPH) ระบุว่า ท่าเรือ 35 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้งานพื้นที่อาคารคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและสินค้าทางการแพทย์ ในขณะที่ท่าเรือบางแห่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่จัดเก็บสินค้า”

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับผู้ให้บริการคลังสินค้า ท่าเทียบเรือและผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ให้บริการพักตู้สินค้าระหว่างกระบวนการจัดส่ง ก็ต้องเผชิญกับปัญหารูปแบบใหม่ๆ อาทิ ความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าและตู้สินค้าที่สูงขึ้น ความเสี่ยงด้านสุขอนามัยพืชจากการจัดเก็บตู้สินค้าในพื้นที่ใหม่ๆ ที่อาจไม่ได้มาตรฐานและเสี่ยงต่อแมลงและศัตรูพืชต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการจัดเก็บสินค้าเป็นระยะเวลานาน อันเกิดจากการที่พ้นช่วงฤดูการจำหน่ายสำหรับสินค้าบางประเภท หรือผู้นำเข้ายกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งในกรณีนี้ การติดตามตำแหน่งของตู้สินค้าจะกลายเป็นอีกประเด็นที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้TNSC คาด ส่งออกติดลบ 8 เปอร์เซ็นต์ วอนรัฐพยุงเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ
บทความถัดไปDachser ขยายกิจการในรัฐ Thuringia สหพันธรัฐเยอรมนี
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his assuring smile and quill-tip talents.