เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน และคุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ แถลงข่าวการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2020
โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2020 มีมูลค่า 18,819 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 11.37 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 579,654 ล้านบาท หดตัว 11.61เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่การนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2020 มีมูลค่า 15,476 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 26.38 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 483,309 ล้านบาท หดตัว 26.59 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนกรกฎาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,343 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 96,344 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนกรกฎาคมหดตัว 12.97 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือน มกราคม ถึงกรกฎาคม ปี 2020 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 133,162 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.72เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 4,141,982 ล้านบาท หดตัว 8.77เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 119,118 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.69 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,752,485 ล้านบาท หดตัว 15.81เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน มกราคม ถึง กรกฎาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 14,044 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 389,496 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนกรกฎาคมหดตัว 9.02 เปอร์เซ็นต์
การส่งออกในเดือนกรกฎาคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 10.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าว กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป
ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 10.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทองคำ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 หดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ (ณ กันยายน 2020) บนสมมติฐานค่าเงิน 31.5 (+-0.5) บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (อาหารกระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home ยังคงขยายตัวได้ดี
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) สถานการณ์การระบาด COVID-19 หลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง 2) ทิศทางการนำเข้าหดตัวลง ประกอบกับความเชื่อมั่นในตลาดโลกที่ยังไม่ดีนัก ทำให้การผลิตต่ำกว่าระดับความประหยัดต่อขนาดของการผลิตซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ 3) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า 4) ระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2019 มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ 5) ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ส่งผลต่อคุณภาพและอุปทานของสินค้าเกษตรที่อาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก และ 6) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเส้นทาง Trans Pacific และเส้นทางยุโรป
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่