เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมีนาคม ปี 2024
โดย TNSC ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2024 การส่งออกมีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) หดตัว 10.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 892,290 ล้านบาท หดตัว 6.6 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าหดตัว 5.6 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 944,828 ล้านบาท ขยายตัว 10.7 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2024 ขาดดุลเท่ากับ 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 52,538 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มีนาคม ปี 2024 พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) หดตัว 0.2 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าขยายตัว 1.3 เปอร์เซ็นต์) และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัว 4.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัว 8.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – มีนาคม ขาดดุลเท่ากับ 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 188,014 ล้านบาท
อนึ่ง TNSC คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2024 คาดการณ์ส่งออกของไทยเติบโตที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนมีนาคม 2024) โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก 2) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต ประกอบด้วย 2.1) ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับตัวเป็น 400 บาท 2.2) ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า 2.3) อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวระดับสูง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และ 2.4) ค่าระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง 3) ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร (ผลไม้ออกช้ากว่าฤดูกาลปกติ ยางพาราผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ)
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย 1) ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงปลายปี และ 2) ความเสี่ยงการชำระเงินของคู่ค้า เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้า
นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยยังมีความเห็นต่อเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า “การปรับค่าแรงต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม” เนื่องจากมีข้อพิจารณาสำคัญประกอบด้วย 1) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะต่อคู่แข่งสำคัญ 2) ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบาง และ 3) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ SMEs ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น
พร้อมกันนี้ TNSC ระบุว่า “ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก” และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้ 1) ควรปรับค่าแรงและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (คณะกรรมการไตรภาคี) ในแต่ละพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และผลิตภาพของแรงงาน (Productivity) และต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม 2) ขอให้พิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 3) การปรับค่าแรงต้องสอดคล้องกับฝีมือแรงงาน โดยรัฐต้องสนับสนุนเรื่อง Total Productivity และ Innovation skill ของแรงงานไทยให้ชัดเจน และ 4) ควรตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทที่ต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับจ้างแรงงานมีฝีมือมาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การแข่งขัน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่