TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนธันวาคม 2023 พร้อมคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024

0
186

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร TNSC จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา

โดย TNSC ระบุว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนธันวาคม ปี 2023 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.7 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 795,824 ล้านบาท ขยายตัว 2.2 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 2.1 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.1 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 770,822 ล้านบาท หดตัว 5.3 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนธันวาคม ปี 2023 เกินดุลเท่ากับ 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 25,002 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2023 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.0 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,809,008 ล้านบาท หดตัว 1.5 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม–พฤศจิกายน หดตัว 0.6 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 289,754.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,111,934 ล้านบาท หดตัว 4.3 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในปี 2023 ขาดดุลเท่ากับ 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 302,926 ล้านบาท

ทั้งนี้ TNSC วางเป้าหมายการทำงานในปี 2024 ผลักดันการส่งเสริมไทยเติบโต 1–2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ที่มีการปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 34-35 บาท 2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง 3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม 4) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) มีแนวโน้มภาคการผลิตที่ดีขึ้น แต่หลายประเทศยังขยายตัวต่ำกว่าระดับ Base Line 5) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำ ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าในเส้นทางยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

โดย TNSC มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน รวมถึงกำกับดูแลเพื่อลดช่องว่าง (Spread) อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้และเงินฝาก 2) เร่งสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม 3) เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ รวมถึงเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA) 4) ขอให้มีการเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และขอให้สายเรือเจรจากับท่าเรือเพื่อขอขยายระยะเวลา Free Time ในท่าเรือ เป็น 21 วัน (จากปกติ  3-7 วัน) เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาการโจมตีเรือพาณิชย์ในพื้นที่ทะเลแดง


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้เดนมาร์กประกาศร่วมมือเป็นพันธมิตรเชื้อเพลิงสีเขียวในอินเดีย
บทความถัดไปMaersk Container Industry เปิดตัว Star Cool ITI 2.0
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend