TNSC แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนเมษายน 2024

0
272

เมื่ออังคารที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนเมษายน ปี 2024

โดย TNSC ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเมษายน ปี 2024 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.8 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 834,018 ล้านบาท หดตัว 12.7 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัว 11.4 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.3 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 903,194 ล้านบาท ขยายตัว 14.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนเมษายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 69,176 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – เมษายนของปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.4 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,338,028 ล้านบาท ขยายตัว 6.2 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – เมษายนขยายตัว 3.7 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,595,217 ล้านบาท ขยายตัว 9.7 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – เมษายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 257,190 ล้านบาท

อนึ่ง TNSC คาดการณ์การส่งออกปี 2024 ว่าจะมีการเติบโตที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนมิถุนายน ปี 2024) โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการตั้งกำแพงภาษีการค้า โดยเฉพาะระหว่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 2) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ 2.1) ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น  2.2) ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า 2.3) ค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง การขาดแคลนตู้สินค้าจากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนกระทบต้นทุนและระยะเวลาการดำเนินการ 3) ผู้ส่งออกกกลุ่ม SMEs เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และ 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลผลิตภาคการเกษตร

ทั้งนี้ TNSC มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) รัฐบาลต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ  ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2) ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่ง โดยการจองระวางล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก การบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสม 3) รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญา 4) รัฐบาลต้องสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก 5) รัฐบาลต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ กาแฟ มะพร้าว ฯลฯ 6) รัฐบาลต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MSC Japan ฉลองความสำเร็จในวาระครบรอบ 25 ปี
บทความถัดไปCULines ลงนามสัญญาตัวแทนสายการเดินเรือกับ PT Samudera Agencies Indonesia
Thanapond Sukonthachart
Bo is a curious and eager learner with a passion for exploring the world. While she writes about the logistics sector, she also has a wide array of interests spanning science, public health, language, culture, and more. A bit of a foodie and always smiling, Bo brings enthusiasm and a broad perspective to her writing.