Siam ECL เผยเบื้องหลังความสำเร็จในการขนส่งรถไฟฟ้าสายสีแดง

0
5045

ณ เมือง Kudamatsu จังหวัด Yamaguchi ประเทศญี่ปุ่น โบกี้รถไฟถูกยกขนลงเรือเพื่อเดินทางมาปฏิบัติการในประเทศไทย ภายใต้ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน โดยผู้ดำเนินการขนส่งขบวนรถไฟเหล่านี้คือ บริษัทสายเรือไทย “SPM หรือ สยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัดในเครือบริษัท Siam ECL ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทสัญชาติไทยและบริษัท ECL (Eastern Car Liner) จากประเทศญี่ปุ่น

โดย Mr. Shiro Aratame กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด ได้เล่าถึงโครงการพัฒนาบริการขนส่งมวลชนสาธารณะของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสินค้าของรัฐบาลไทยว่า “จำนวนรถไฟที่ต้องทำการขนส่งจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดคือ 130 ยูนิต มีทั้งตัวโบกี้รถไฟ อุปกรณ์ติดตั้ง และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งเราจะขนรถไฟฟ้ามาจำนวน 6 ถึง 12 โบกี้ต่อเที่ยว รวมจำนวนขนส่งทั้งหมด 13 เที่ยวด้วยกัน และจะเริ่มทำการขนส่งตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ถึงเดือนเมษายนปี 2020 โดยประมาณ รถไฟทั้งหมดนี้ได้ผลิตขึ้นที่เมือง Kudamatsu ในอำเภอ Yamaguchi ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้กับจุดจอดเรือของเรา”

Mr. Shiro Aratame กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด และ คุณ ธนิต หาญเบญจพงศ์ กรรมการบริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด

Mr. Aratame ยังเผยถึงความชำนาญและความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศท้องถิ่นของต้นทางสินค้าในญี่ปุ่นเป็นอย่างดี “เราระมัดระวังเรื่องลมฟ้าอากาศเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสู่ฤดูพายุ เราจึงประสานงานกับผู้ส่งสินค้าตลอดเวลา ในเรื่องของวันที่เข้ารับสินค้าภายใต้สภาพอากาศที่เหมาะสม”

พร้อมกันนั้น คุณ ธนิต หาญเบญจพงศ์ กรรมการบริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด ก็ได้อธิบายถึงศักยภาพการบรรจุสินค้าของกองเรือสินค้าวางกอง (Conventional) ของสยามพัฒนาฯ ซึ่งเดินทางเที่ยวแรกมายังท่าเรือแหลมฉบังพร้อมตู้รถไฟจำนวน 10 ตู้ ในวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา “เรือของเราสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 12,000 เดทเวทตัน และมีความยาวของระวางเรือกว่า 30 เมตร กล่าวคือ เราสามารถบรรทุกตู้รถไฟได้สูงสุด 20 ตู้ ขณะที่ตามแผนการดำเนินงานของลูกค้า กำหนดจำนวนสูงสุดต่อเที่ยวที่ 10 ถึง 12 ตู้เท่านั้น และตู้รถไฟก็มีความยาวเพียง 22 เมตร โปรเจกต์นี้จึงมิได้อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเลย”   

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังตอบสนองรวมถึงสนับสนุนโครงการรถไฟสายสีแดง โดยจัดบริการเดินเรือในเส้นทางจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยจำนวนสองเที่ยวต่อเดือน โดยตามเงื่อนไขของลูกค้า กำหนดให้ส่งสินค้าโดยใช้บริการแบบประจำเส้นทาง 1.5 เที่ยวต่อเดือน พร้อมกับผลักดันให้เส้นทางเดินเรือนี้ เป็นบริการแบบประจำเส้นทาง

และเมื่อเรือบรรทุกสินค้าเดินทางมาถึงปลายทางที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณกชกร สำเภาโภค ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด ก็ได้อธิบายถึงขั้นตอนการยกขนโบกี้รถไฟลงจากเรือว่า “ขั้นตอนการถ่ายสินค้าลงจากเรือนั้น เป็นขั้นตอนที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เราใช้เครนประจำเรือยกสินค้าขึ้นจากเรือไปวางที่รถบรรทุกของผู้รับสินค้าโดยตรง โดยเราจะทำการขนถ่ายสินค้าเมื่อรถรับสินค้ามาถึงท่าเทียบเรือ ซึ่งถือเป็นการส่งมอบสินค้าโดยตรง (Direct Delivery)”  

คุณกชกร สำเภาโภค ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทสยามพัฒนา มารีไทม์ จำกัด

แม้จะเป็นขั้นตอนที่เรียบง่าย ทว่าสยามพัฒนาก็ให้ความสำคัญ โดยมีการวางแผนการทำงานอย่างละเอียดและรัดกุมที่สุด เพื่อปฏิบัติการส่งมอบสินค้าที่ลื่นไหล “เราประสานงานกับทุกฝ่ายในกำหนดเวลาที่เที่ยงตรง เมื่อเรือเดินทางออกจากต้นทาง เราก็จะเริ่มติดต่อกับบริษัทผู้รับสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานความคืบหน้าของขั้นตอนการขนส่งสินค้า ขั้นตอนการถ่ายสินค้าลงจากเรือ เวลาที่ทางเราสะดวกต่อการถ่ายสินค้าลง พร้อมแนะนำจำนวนรถรับสินค้าที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิผลสูงสุดของปฏิบัติการ” Mr. Aratame กล่าว

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ONE ริเริ่มโครงการความปลอดภัยและคุณภาพทางทะเลระดับโลก
บทความถัดไปMaersk ส่งขบวนรถไฟศิลปะ ปลุกสำนึกปกป้องสิ่งแวดล้อม