ผู้บริหาร LEO Global Logistics แนะนำข้อปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในช่วงนิวนอร์มอล

0
2973

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย อัตราค่าระวางขนส่งตู้สินค้ายังอยู่ในระดับที่สูง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกสินค้ายังต้องเผชิญกับปัญหาพื้นที่ระวางสินค้าไม่เพียงพอ ในการนี้ ผมขอแนะนำผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ ในการปรับเปลี่ยนกระบวนคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน  

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมาก จากเดิม สายการเดินเรือมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)  เนื่องจากความไม่แน่นอน และความไม่น่าเชื่อถือของบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าในการใช้บริการ แต่ผมเชื่อว่าความคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้นแล้ว

ปัจจุบัน สายการเดินเรือระหว่างประเทศ จำต้องพึ่งพาบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งเรือขนส่งสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้นมาก สามารถขนส่งตู้สินค้าได้หลายพันตู้ต่อสัปดาห์ จึงยากต่อการเติมเต็มระวางสินค้าด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว สายการเดินเรือต่างๆ จึงมีการติดต่อประสานงานและบริหารจัดการระวางสินค้าของผู้ใช้บริการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ผู้รับจัดการขนส่งสินค้า จะเข้ามาช่วยดูแลระวางสินค้าจากลูกค้าระดับกลางจนถึงรายย่อย หรือลูกค้ารายใหญ่ ที่ต้องการใช้บริการในลักษณะ End-to-End หรือ One Stop Services ที่สายการเดินเรือหลายสายไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องด้วยข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้ สายการเดินเรือส่วนใหญ่จึงมองผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในฐานะพันธมิตรมากกว่าคู่แข่ง

โจทย์ของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าคือ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะพันธมิตรที่ดี มีความสม่ำเสมอในการให้บริการ ไม่จองพื้นที่ระวางแบบเหวี่ยงแห และยกเลิกพื้นที่ระวางกับสายการเดินเรืออย่างกะทันหัน ในทางกลับกัน ความน่าเชื่อถือจากสายการเดินเรือเองก็เป็นสิ่งที่ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าควรพิจารณาเช่นกัน

เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าไม่ควรเลือกใช้บริการสายการเดินเรือโดยพิจารณาจากอัตราค่าระวางเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสายการเดินเรือที่เสนอค่าระวางต่ำ ทว่า มีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนของเวลาการเดินเรือ หรือการบริการจัดการพื้นที่ (space) ของระวางเรือ อาจจะส่งผลให้สินค้าของลูกค้าไม่สามารถเดินทางถึงที่หมายได้ตามกำหนด  และส่งผลเสียหายต่อธุรกิจของลูกค้า


ข้อปฏิบัติประการที่สองที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้าควรพิจารณาคือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอัตราค่าระวางพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยอมรับและปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อให้สินค้าสามารถวางจำหน่าย ณ ปลายทางในต่างประเทศหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

หากมองในแง่ของธุรกิจแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสายการเดินเรือประสบความยากลำบาก ขาดทุน และปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก แต่สายการเดินเรือเหล่านั้นก็ยังพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคและให้บริการขนส่งสินค้ากับลูกค้าทั่วโลกต่อไป  เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ที่ซึ่ง LEO เริ่มรับบทบาทเป็นตัวแทนของสายการเดินเรือ Sinokor ค่าระวางตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต จากประเทศไทยไปยังเมือง Busan ประเทศเกาหลีใต้ อยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ขณะที่ค่าระวางของตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต อยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตู้   

ผ่านมาถึงปี 2019 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของ Covid-19 อัตราค่าระวางตู้สินค้าอยู่ที่เพียง 60 เหรียญสหรัฐต่อตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต และ 100 เหรียญสหรัฐต่อตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต   

ผู้ประกอบการจำต้องเข้าใจว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางที่สูงขึ้นนี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาระดับโลก ด้วยเหตุนี้ การรอให้อัตราค่าระวางสินค้าปรับลดลงจึงไม่ใช่ทางออก ผู้ประกอบการทุกท่านต้องปรับกระบวนความคิดใหม่ ภายใต้สภาวะ นิว นอร์มอล

จากแนวโน้มในปัจจุบันนั้น ยิ่งท่านรอนานเท่าไหร่ อัตราค่าระวางก็จะยิ่งปรับสูงขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดสำหรับสินค้าของท่านในตลาดต่างประเทศหรือในประเทศ ท่านต้องเจรจากับคู่ค้าปลายทางในเรื่องการปรับโครงสร้างราคาขายปลีกสินค้า ในสถานการณ์ที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างลังเลที่จะส่งสินค้าเนื่องจากอัตราค่าขนส่งที่สูง ผู้ที่กล้าตัดสินใจก่อน ก็จะมีโอกาสส่งสินค้าไปวางจำหน่ายที่ตลาดในต่างประเทศก่อน ถึงแม้ว่าราคาอาจจะสูงขึ้น แต่ก็ยังดีกว่าคู่แข่งที่ไม่ขึ้นราคา ทว่าไม่มีสินค้าวางจำหน่ายเลย ทั้งยังอาจเป็นโอกาสทองที่จะชิงส่วนแบ่งพื้นที่ตลาดให้กับสินค้าของท่านอีกด้วย


ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าในกลุ่มประเทศ CLMV (ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศจีน สามารถแก้ปัญหาได้โดยการมองหาวิธีการส่งออกสินค้าทางเลือก เช่น การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุก (Cross  Border Transport) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและมีปริมาณการขนส่งสินค้าขยายตัวขึ้นอย่างมาก


ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าโดยเรือ รถบรรทุก หรือเครื่องบิน ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมักจะส่งผลให้การดำเนินการขนส่งสินค้าเกิดความไม่แน่นอนเสมอ เช่น สายการผลิตอาจเกิดปัญหา และไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนด ทำให้ต้องมีการยกเลิกพื้นที่ระวางอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสูญเสียความน่าเชื่อถือ และสายการเดินเรือสูญเสียรายได้

ดังนั้น เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ผมใคร่ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการวางแผนการผลิตล่วงหน้า และมองหาช่องทางการขนส่งสินค้าที่หลากหลาย รวมทั้งโหมดการขนส่งสินค้าแบบผสมผสาน (Multimodal Transport) พร้อมกับรวบรวมข้อมูลการติดต่อของสายการเดินเรือและตัวแทนผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเอาไว้อย่างครอบคลุม

พร้อมกันนั้น ก็ต้องตัดสินใจให้เร็ว หากว่าได้พื้นที่ระวางสินค้า ก็ขอให้รีบยืนยันการส่งสินค้า ไม่ควรรอให้อัตราค่าระวางลดลง เนื่องจากสายการเดินเรืออาจไม่รอท่าน ภายในหนึ่งวันที่ท่านกำลังตัดสินใจ อาจมีผู้ส่งสินค้ารายอื่นที่พร้อมใช้พื้นที่ระวางของท่าน และในกรณีที่จำเป็นต้องยกเลิกพื้นที่ระวางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ควรแจ้งให้สายการเรือทราบโดยเร็วที่สุด 

ขอให้ผู้ประกอบการคนไทยทุกคนได้ทราบว่า ท่านไม่ได้กำลังแข่งขันในการหาตู้สินค้าและพื้นที่ระวางสินค้ากับผู้ประกอบการในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ท่านกำลังแข่งกับผู้ประกอบการในประเทศจีนและเวียดนามที่พร้อมจะจ่ายค่าระวางที่สูงกว่าประเทศไทย (ทั้งๆ ที่โดยภูมิประเทศแล้ว ประเทศเหล่านี้อยู่ในแถบชายฝั่งของเส้นทางเดินเรือหลักของโลกจะมีความได้เปรียบและโดยปกติแล้วค่าระวางจะต่ำกว่าประเทศไทย)


นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นใด ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ แม้ในปัจจุบัน เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตโรคระบาดจะผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาติดต่อสื่อสารผ่านทางระบบออนไลน์ และมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นก็ตาม

การแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นสิ่งที่เน้นย้ำให้ผมเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอย่างไร Logistics Platform ก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่บุคลากรได้อย่างสมบูรณ์ ผมมองว่าทั้งสองสิ่งนี้ต้องมาควบคู่กัน เทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้ในระดับหนึ่ง ทว่าสุดท้ายแล้ว การดำเนินธุรกิจก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าอัตราค่าระวางสินค้าจะต่ำแค่ไหน ก็ไม่อาจการันตีได้ว่าท่านจะสามารถจองพื้นที่ระวางได้อย่างแน่นอน หากไร้ซึ่งการเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับสายการเดินเรือ

ทุกวันนี้ แม้แต่ตัวผม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็ยังออกไปพบปะกับกรรมการผู้จัดการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการเดินเรือหลักๆ ที่ร่วมธุรกิจกับ LEO อยู่เป็นประจำ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบนิเวศทางธุรกิจ (ECO system) คือเคล็ดลับสำคัญที่มีส่วนช่วยในการประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน   


สุดท้าย ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของโลกก้าวไปข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์ทั่วโลกที่เต็มไปด้วยความผันแปรและความไม่แน่นอน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำแนะนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ และมีส่วนช่วยให้ทุกท่านสามารถดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤตระดับโลกนี้ไปด้วยกัน  


เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LEO Global Logistics Pcl. (LEO)


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ท่าเรือ Hamburg ปรับความลึกร่องน้ำ ใน Lower Elbe และ Outer Elbe
บทความถัดไปCarrier Transicold ส่งมอบตู้สินค้าเย็น 150 ตู้ แก่ Atlantic Container Line