ท่าเรือแหลมฉบังเดินหน้าขยายโครงการพัฒนาท่าเรือ เฟส 3 มุ่งสนับสนุนภาคธุรกิจโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
ปัจจุบัน ทั้งไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมหลายแห่งเริ่มมีการใช้งานเกือบทะลุเพดานความสามารถในการรองรับ ขณะที่แนวโน้มของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าเองก็เริ่มมีพัฒนาก้าวหน้าขึ้นโดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวแปร เราจะเห็นได้จากกองเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่มักได้รับการยกระดับประสิทธิภาพ เพิ่มขนาดพื้นที่ระวาง และขยายขนาดเรือที่ต่อขึ้นใหม่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ e-Commerce และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้ให้บริการท่าเรือหลายแห่งต้องมีการปรับตัว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกตเวย์สำคัญในการเชื่อมต่อการค้าไทยกับทั่วโลกมาตลอดหลายทศวรรษ จึงเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เร่งขยายพื้นที่รองรับเรือขนส่งสินค้าที่จะมีขนาดใหญ่มากขึ้น รวมถึงปริมาณตู้สินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาคฯ และตอบรับความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง
เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมาย ทิศทาง และแนวทางในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในเชิงลึกยิ่งขึ้น LM ได้ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ
LM: โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีที่มาและวัตถุประสงค์หลักของโครงการอย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “โครงการนี้เราพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ผ่านการเก็บบทเรียนในอดีตและนำข้อจำกัดที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลก โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการพัฒนาท่าเรือฯ เฟสที่ 3 แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับสินค้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับสัดส่วนการขนส่งสินค้าจากท่าเรือและมายังท่าเรือผ่านโหมดการขนส่งต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและขนถ่ายสินค้าโดยใช้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติการ และการเชื่อมโยงพื้นที่หลังท่าเรือกับเขตเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
LM: โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีการพัฒนาในส่วนของท่าเทียบเรือต่อเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังที่มีอยู่ในปัจจุบันของท่าเทียบเรือทั้ง 4 ชุดซึ่งประกอบด้วยท่าเทียบเรือชุด A, B, C และ D อยู่ที่ 10.8 ล้านทีอียู ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งานเต็มกำลังในไม่ช้า เราจึงต้องเร่งดำเนินการขยายขีดความสามารถในการรองรับให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการพัฒนาท่าเทียบเรือใหม่อีกสองชุด คือ ท่าเทียบเรือชุด E และ F พร้อมขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7 ล้านทีอียู ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ทั้งหมดราว 18 ล้านทีอียู”
LM: ทางท่าเรือฯ มีการวางแผนการใช้งานท่าเทียบเรือชุด E และ F อย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “ท่าเทียบเรือชุด E และ F จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด โดยมีความลึกหน้าท่า 18 เมตร ซึ่งถือว่ามีความลึกมากขึ้น เมื่อเทียบกับท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างขึ้นในเฟส 1 และ 2 ที่มีความลึกหน้าท่า 14 และ 16 เมตร ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ท่าเทียบเรือชุดใหม่สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่และมีอัตรากินน้ำลึกที่มากขึ้น เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และยาวขึ้นกว่าในอดีต นี่จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า รวมถึงอุตสากรรมการผลิต การนำเข้า-ส่งออกของไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้อีกในอนาคต”
LM: นอกเหนือจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด E และ F แล้ว ทางท่าเรือฯ เตรียมวางแผนดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “โดยทั่วไปแล้ว การขนส่งสินค้ามายังท่าเรือและออกจากท่าเรือจะแบ่งเป็นสามหมวดหลัก คือ โหมดขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางราง แต่โดยข้อจำกัดและความสามารถในการรองรับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือการขนส่งทางบก ดังนั้น หากเราอยากผลักดันให้แต่ละโหมดการขนส่งมีสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อให้สัดส่วนการขนส่งแบ่งเป็น โหมดขนส่งทางถนน 40 เปอร์เซ็นต์ โหมดขนส่งทางน้ำและทางราง อย่างละ 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าตอนนี้เรามีข้อจำกัดอะไรบ้าง และเราต้องพัฒนาส่วนไหนเพิ่มเติม ซึ่งเราพบว่า ปัจจุบัน เราสามารถรองรับการขนส่งทางรางได้เพียง 2 ล้านทีอียูเท่านั้น ดังนั้น เราจึงวางแผนขยายขีดความสามารถให้ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้สามารถรองรับตู้สินค้าผ่านโหมดขนส่งทางรางได้อีก 4 ล้านทีอียู เมื่อรวมกับของเดิมที่รองรับได้ 2 ล้านทีอียู รวมเป็นทั้งหมด 6 ล้านทีอียู”
LM: การท่าเรือฯ ได้มีการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางเพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังอย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “ในส่วนของโหมดการขนส่งทางราง เราได้วางแผนสร้างรางรถไฟเชื่อมต่อเข้าไปถึงหลังท่าเทียบเรือชุด E และ F เพื่อกระตุ้นการขนส่งผ่านช่องทางนี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองถึงแค่การสร้างรางรถไฟเท่านั้น แต่เรามองลึกไปถึงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้การขนส่งสินค้าทางรางมายังท่าเรือเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาก่อสร้างเส้นทางข้ามทางรถไฟ ทั้งในรูปแบบของทางลอด หรือทางยกระดับ และจุดกลับรถแบบเกือกม้า เนื่องจากปัจจุบัน มีการปฏิบัติการรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมต่อกับสถานี ICD ลาดกระบัง ราว 20 ขบวนเท่านั้น แต่ในอนาคต เมื่อการก่อสร้างท่าเรือฯ เฟส 3 เสร็จสิ้น ก็จะทำให้มีขบวนรถไฟปฏิบัติการในเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้นเกือบร้อยขบวนต่อวัน หากเราไม่มีการวางแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้รองรับ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหารถติดจากการรอข้ามทางรถไฟเป็นอย่างมาก ดังนั้น เราจึงมองต้องพิจารณาลงทุนในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ทั้งเศรษฐกิจและสังคมสามารถพัฒนาควบคู่กันไปได้”
LM: ท่าเรือแหลมฉบังมีแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “เรามองว่าสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งของการพัฒนาและก่อสร้างท่าเรือก็คือ เราต้องสามารถสะท้อนและเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางอื่นๆ ให้ได้ ซึ่งเรามีเครือข่ายที่มีศักยภาพที่สามารถเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้จนถึงประเทศจีนตอนใต้ ทั้งการขนส่งทางบกและทางราง ไม่ว่าสินค้าจะมาจากพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา หรือมาเลเซีย”
LM: ท่าเรือฯ ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ส่วนอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร?
คุณมนตรี: “ตัวเลือกหนึ่งที่เราให้ความสนใจก็คือการสร้างเขตปลอดอากร ในรูปแบบของ Distribution Park ที่ผู้ปฏิบัติการสามารถนำชิ้นส่วนประกอบต่างๆ จากต่างประเทศ เข้ามาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป และส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดอาชีพและการจ้างงานมากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบต่อปัญหาการจราจรด้านนอกท่าเรือ นอกจากนี้ เราก็ได้เล็งถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นท่าเรือขนส่งยานยนต์ (RORO) เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการด้านการขนส่งรถยนต์ของตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันเรามีปริมาณการส่งออกยานยนต์ราว 1,200,000 คัน และมีทีท่าว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า”
LM: โครงการพัฒนาท่าเรือฯ เฟส 3 จะมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนไทยอย่างไรบ้าง?
คุณมนตรี: “การขยายท่าเรือฯ จะช่วยให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีทางเลือกในการให้บริการที่หลากหลายและรวดเร็วมากขึ้น สามารถรองรับปริมาณสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกได้มากขึ้น หากในอนาคตมีการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางที่หลากหลายขึ้น ผู้ให้บริการก็จะมีทางเลือกในการนำเสนอบริการที่กว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตจะได้รับประโยชน์จากวงจรการขนส่งที่รวดเร็วขึ้น และมีทางเลือกในการขนส่งที่มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนจะได้รับประโยชน์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ตลอดจนด้านอาชีพและการจ้างงานที่มากขึ้น ขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนพื้นที่ท่าเรือฯ ทางท่าเรือฯ ก็มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านการพัฒนาความรู้และความสามารถ สร้างอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่