สำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลไม้สดแต่ละชนิด นอกเหนือจากรสชาติความอร่อยแล้ว รูปลักษณ์ และความสดใหม่ถือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อผลไม้ ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการขนส่งผลไม้สด เนื่องจากผลไม้สดแต่ละชนิดมีการจัดการและการควบคุมอุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีการคายความร้อนสูง อย่าง ทุเรียน
เมื่อกล่าวถึงราชาผลไม้ เชื่อว่าทุกคนต้องนึกถึงทุเรียนมาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน ผลไม้ชนิดนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนและผู้ส่งออกทุเรียนรายสำคัญของโลก โดยจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนเมษายนปี 2018 ที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกทุเรียนจากประเทศไทยมีปริมาณสูงถึง 120,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากปริมาณการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ในขั้นตอนการส่งออกนี้ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผ่านการนำเสนอบริการขนส่งสินค้าเพื่อรักษาคุณภาพของทุเรียนส่งออกไปยังปลายทางต่างๆ ทั่วโลก นิตยสาร LM มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งผลไม้สดทางทะเลจากสองสายการเดินเรือชั้นนำ ได้แก่ คุณอนุชา ไหมทองคำ ผู้จัดการฝ่าย Area Sales สายการเดินเรือ Sealand – A Maersk Company Thailand และคุณธีระเดช มั่นใจ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ สายการเดินเรือ Heung-A Shipping (Thailand) มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และประสบการณ์เกี่ยวกับการขนส่งทุเรียนทางทะเล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าที่ต้องมีการควบคุมความเย็นตลอดการขนส่ง (cold chain) ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสามารถส่งมอบสินค้าไปยังปลายทาง ได้ตรงตามเวลาที่กำหนด
Handling Durian
ในการขนส่งผลไม้สดทางทะเล การควบคุมอุณหภูมิในตู้สินค้าเย็น (Reefer) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาคุณภาพของผลไม้สดให้คงสภาพสมบูรณ์ ก่อนถึงมือผู้บริโภคปลายทาง
“เนื่องจากผลไม้สดทุกชนิดสามารถคงความสดอยู่ได้ไม่เกิน 20 วัน ดังนั้น การขนส่งผลไม้สดทางทะเลจากประเทศไทย ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นการขนส่งภายในเส้นทาง Intra-Asia ซึ่งโดยปกติแล้วการจัดเก็บผลไม้สดทั่วไป จะมีการตั้งค่าอุณหภูมิที่เป็นบวก ตั้งแต่ 2-15 องศาเซลเซียส” คุณธีระเดช กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ทุเรียนจะเป็นผลไม้สดเหมือนกับผลไม้อื่นๆ แต่การขนส่งทุเรียนทางทะเลนั้น มักมีรูปแบบการจัดการที่ซับซ้อนมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีการคายความร้อนสูง ดังนั้น เมื่อมีการจัดเก็บทุเรียนในตู้สินค้าห้องเย็นก็จำเป็นที่จะต้องมีการเปิดช่องระบายอากาศ (Ventilator) รวมทั้งตั้งค่าอุณหภูมิที่ 13-15 องศาเซลเซียส และตั้งค่า Ventilator Mode ไว้ที่ประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อระบายความร้อน จากภายในสู่ภายนอก
Preparing Reefers
จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าตู้สินค้าเย็นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการผลไม้ให้คงความสด มีรสชาติและคุณภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อถึงช่วงฤดูกาลส่งออกทุเรียน ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมตู้สินค้าเย็นเหล่านี้ให้มีความพร้อมสำหรับการส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางต่างๆ
คุณอนุชา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เนื่องจากความต้องการของลูกค้าในการขนส่ง ทุเรียนในช่วงฤดูร้อนเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก สายการเดินเรือฯ จึงมีการจัดเตรียมตู้สินค้าเย็นให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า”
“สำหรับการขนส่งผลไม้ที่มีการคายความร้อนสูง อย่าง ทุเรียน หรือลำไย ก่อนการบรรจุสินค้าเข้า ตู้ ทางสายการเดินเรือฯ จะใช้วิธีการตั้งอุณหภูมิตู้สินค้าไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ตู้ทำความเย็นมีอุณหภูมิพร้อมสำหรับบรรจุสินค้าได้ในทันทีเมื่อเปิดตู้ โดยทีมงานฝ่าย Operation Equipment จะทำหน้าที่ในการจัดเตรียมตู้สินค้าให้พร้อมสำหรับการบรรจุสินค้า และตรวจสอบสภาพตู้สินค้า (Pre-Trip Inspection) ก่อนส่งมอบตู้เพื่อนำไปบรรจุผลไม้ให้กับลูกค้า นอกจากนี้ เรายังได้มีการพัฒนาบริการ RCM (Remote Container Management) เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบสถานะขนส่งสินค้าและอุณหภูมิแบบเรียลไทม์ ผ่านระบบส่งสัญญาณผ่านทางดาวเทียม ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถเก็บบันทึกข้อมูลในกรณีที่ลูกค้าต้องการตรวจสอบภายหลังอีกด้วย” คุณอนุชา กล่าวเสริม
ขณะเดียวกัน คุณธีระเดช ได้กล่าวถึงการจัดการตู้สินค้าเย็นของสายการเดินเรือฯ ว่า “เราได้มีการลงทุนจัดหาตู้สินค้าเย็นรุ่นใหม่ๆ มาทดแทนตู้สินค้าเย็นรุ่นเก่าที่หมดอายุการใช้งานอยู่เสมอ เพื่อรองรับการส่งออกผลไม้สดที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ลูกค้าจึงสามารถมั่นใจได้ว่าตู้สินค้าเย็นที่สายการเดินเรือฯ นำมาให้บริการจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าระหว่างการขนส่งสินค้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ทีมงานของเราจะมีการตรวจสอบอุณหภูมิของตู้สินค้าเย็นทุกหกชั่วโมง ซึ่งหากอุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลงทีมงานของเราก็จะแจ้งให้ลูกค้าทราบโดยทันที”
Improving Services
เมื่อพูดถึงการส่งออกผลไม้สด สิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั่นก็คือ ความสดใหม่ของผลไม้ ดังนั้น นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของตู้สินค้าเย็นแล้ว ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลยังต้องปรับปรุงการให้บริการด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ทั้งการลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ ตลอดจนถึงการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือให้ครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น
“สายการเดินเรือฯ ได้มีการปรับปรุงบริการและพัฒนาเส้นทางการเดินเรือ ทั้งการลดระยะเวลาการเดินเรือ การเพิ่มความถี่ของรอบเดินเรือ และเพิ่มขนาดเรือขนส่งสินค้าให้ใหญ่ขึ้น อีกทั้งในอนาคตเรายังได้วางแผนให้บริการเสริมสำหรับการขนส่งสินค้างทางบก เช่น รถหัวลากและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้า” คุณอนุชา กล่าว “นอกจากนี้ สายการเดินเรือฯ ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับลูกค้าได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง”
เนื่องจากปัจจุบัน การส่งออกทุเรียนทางทะเลของไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เพื่อเป็นการรับมือกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเล จึงต้องมองหารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งการปรับปรุงบริการที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการจัดหาตู้สินค้าเย็นรุ่นใหม่ๆ เพื่อรองรับปริมาณของผลไม้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนถึงการลงทุนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาการส่งออกผลไม้สดของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่