สถานการณ์ปัจจุบันของขยะอิเล็กทรอนิกส์และแนวโน้มในอนาคต

0
7406
Old electronic and computer scrap. Bound by metal wire into cubes for recycling.

หากกล่าวว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราคงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง ประโยคนี้สามารถพิสูจน์ได้ง่ายเพียงคุณลองมองรอบตัวในตอนนี้ เชื่อว่าต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ข้างตัวคุณมากกว่าหนึ่งชิ้น

เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ยังใหม่ ย่อมได้รับความสนใจและดูแลเป็นอย่างดี แต่เมื่อไม่สามารถใช้งานได้แล้วหรือถูกทดแทนด้วยอุปกรณ์ชิ้นใหม่ น้อยคนนักที่จะสนใจว่า อุปกรณ์ชิ้นเก่าถูกนำไปกำจัดหรือมีปลายทางการจัดการอย่างไร มีการแยกชิ้นส่วนหรือผ่านกระบวนการที่ถูกต้องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ขยะชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่คุณไม่เคยสนใจ เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่คุณต้องหันกลับมามอง

เมื่อช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยคือ เหตุการณ์ตรวจค้นโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังที่พบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าของเสียเคมีวัตถุ ประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร มีผู้ประกอบการบางรายได้กระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและมีการกำจัดของเสียอันตรายไม่ตรงตามระเบียบที่กำหนด จากจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เล็กๆ ดังกล่าวได้ขยายเป็นวงกว้างและมีการตรวจพบโรงงานที่ละเมิดกฎหมายและกระทำผิดเงื่อนไขการนำเข้าเพิ่มอีกหลายราย

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทิ้งคำถามไว้ในใจของประชาชนว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีต้นทางมาจากไหนและรัฐบาลมีการวางมาตรการรับมือเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มในอนาคต

นิตยสาร LM ได้รับเกียรติจาก คุณพัชร์กมลพร ตันตินฤภัย ผู้อำนวยการ บริษัท Verlassem Service Co., Ltd ในการพูดคุยเกี่ยวกับ สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

Where Does Electronic Waste Come From?

ในแต่ละปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 20-50 ล้านตัน โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2017 ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้ารวมกันหกหมื่นตัน โดยแบ่งเป็นขยะจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขยะเหล่านี้จะถูกนำมาทิ้งแล้ว ใช่ว่าจะหมดประโยชน์เสียทีเดียว เพราะหากผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง ก็สามารถนำมาสกัดเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าได้

คุณพัชร์กมลพร ตันตินฤภัย

คุณพัชร์กมลพร กล่าวว่า “ประเทศไทยมีการนำเข้าขยะจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และอีกหลายประเทศ โดยขยะที่นำเข้ามีหลากหลายประเภท ทั้งแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และพลาสติกอัดเม็ด ในส่วนของขยะประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็จะสามารถนำมาสกัดเป็นแร่ได้ แต่ขั้นตอนการสกัดอาจทำให้เกิดมลภาวะได้หากดำเนินการไม่ถูกต้อง นอกจากขยะประเภทอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไทยยังมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกอีกด้วย โดยเม็ดพลาสติกไม่ถือเป็นขยะเพราะผ่านการแปรรูปแล้ว จะถือเป็นวัตถุดิบแทน สินค้าเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการเหมือนขยะทั่วไป โดยเริ่มจากโรงงานคัดแยกขยะนำสินค้ามาแยกประเภท จากนั้นนำไปขายให้กับโรงงาน และถูกนำกลับมาเข้ากระบวนการใหม่ แต่อย่างกรณีสินค้าอันตราย อาทิ ตะกั่ว ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้ว่าห้ามนำเข้าประเทศไทยก็จะไม่รับ”

โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขยะเหล่านี้ก็สามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ โดยได้ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีการสกัดโลหะมูลค่าสูงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างทองคำและทองแดง ที่นำมาผลิตเป็นเหรียญรางวัลที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียวในปี 2020 ดังนั้น ความท้าทายก็คือ วิธีการจัดการและสกัดแร่โลหะมูลค่าสูงที่เป็นส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์และนำมาใช้ประโยชน์

The Importance of Corsrect Documentation

ขั้นตอนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีความละเอียดซับซ้อนมากกว่าสินค้าประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม คุณพัชร์กมลพร กล่าวว่า หากผู้นำเข้ามีการเตรียมตัวและจัดเตรียมเอกสารอย่างถูกต้องก็ช่วยให้ขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตเป็นไปอย่างราบรื่นได้ โดยกล่าวว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีความซับซ้อนมากกว่าสินค้าประเภทอื่นเนื่องจากต้องมีการระบุประเภทให้ถูกต้อง ผู้นำเข้าต้องตรวจสอบให้ดีว่าสินค้าประเภทไหนต้องผ่านหน่วยงานไหน เพื่อที่จะดำเนินงานกับหน่วยงานดังกล่าวได้ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นสินค้าประเภทหลอดไฟ ก็จะมีการระบุว่าต้องผ่านพิกัดกรมอุตสาหกรรม มาตรฐาน มอก. สินค้าแต่ละประเภทจะระบุตัวมันเอง โดยไม่เพียงเฉพาะผู้นำเข้าเท่านั้น แต่บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการทำพิธีการศุลกากร (shipping) ที่ดำเนินการพิธีการศุลกากรจะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในส่วนนี้ด้วย”

ดังนั้น ความท้าทายก็คือ วิธีการจัดการและสกัดแร่โลหะมูลค่าสูงที่เป็นส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์และนำมาใช้ประโยชน์

“ปัจจุบัน การดำเนินการพิธีการศุลกากรมีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากทุกอย่างเป็นระบบ paperless เมื่อทำการยิงพิกัดศุลกากร (Harmonized System หรือ HS Code) จะมีการแสดงผลออกมาว่า สินค้าประเภทนี้ต้องทำการขออนุญาตผ่านหน่วยงานไหน เราสามารถทราบข้อมูลได้ก่อนและสามารถป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ก่อน เนื่องจากหากนำสินค้าเข้ามาแล้วเกิดผลกระทบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาระค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่รับผลกระทบรายแรกคือ สายการเดินเรือ เพราะเมื่อเกิดกรณีส่งสินค้ากลับ สายการเดินเรือจะต้องทำการเคลียร์ของออก แต่เขาไม่มีสิทธิ์์ในการเอาของออกจากตู้แล้วนำมาทิ้งได้ เนื่องจากสินค้าอยู่ในเขตอารักขาของกรมศุลกากร สายการเดินเรือไม่มีสิทธิ์ตัดซีลตู้สินค้าทิ้ง ทำให้หมดสิทธิ์ในการใช้ตู้สินค้า เกิดการเก็บค่าคืนตู้ช้า ส่วนใหญ่เหตุขัดข้องและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทำใบอนุญาตไม่ครบ กรมศุลกากรมีการกำหนดกฎระเบียบไว้ชัดเจน หากดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการที่กำหนดได้ใบอนุญาตที่ถูกต้อง สินค้าถูกต้องตามที่สำแดงไว้ ภายหลังทำการเสียภาษีตามพิกัดที่ระบุไว้ สินค้าชิ้นนั้นก็ถือว่าผ่านและสามารถออกของได้เลย อย่างไรก็ตาม หากบริษัทที่เป็นตัวแทนออกของให้กับผู้ส่งและผู้รับสินค้า (customs broker) ปล่อยปละละเลยหน้าที่ ย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมายศุลกากร มีสิทธิ์โดนยึดใบอนุญาตการเป็น customs broker รวมทั้งตัวแทนในการทำพิธีการศุลกากร (shipping) ก็ต้องระวังเช่นกัน หน้าที่ของ shipping เป็นเสมือนผู้ช่วยนายตรวจ ต้องทำให้กระบวนการทำงานราบรื่นขึ้น”

Future Outlook

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีมูลค่าและมีประโยชน์ในการทำเป็นวัตถุดิบต่อ แต่ในปัจจุบัน ขยะดังกล่าวอยู่ระหว่างห้ามนำเข้า คุณพัชร์กมลพร กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในระหว่างห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากกรณีที่มีโรงงานผิดกฎหมายเกิดขึ้น โดย ณ ตอนนี้มีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่มีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องทำการติดตามดูต่อไปว่า หากใบอนุญาตของโรงงานแห่งนี้หมดอายุ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะทำการต่ออายุให้หรือไม่”

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจสอบโรงงานนำเข้าขยะที่ละเมิดกฎระเบียบที่ตั้งไว้ อาทิ มีการละเมิดโดยว่าจ้างบริษัทรายย่อยเพื่อเข้ามารับหน้าที่ในการคัดแยกขยะแทน แต่ตามกฎหมายระบุไว้ว่า โรงงานจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่คัดแยกขยะและต้องมีกระบวนการบำบัดน้ำเสียที่ถูกต้อง รวมทั้งมีกระบวนการกำจัดขยะโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีผู้ให้บริการบางรายที่ดำเนินการผิดระเบียบ รวมทั้งยังปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นภัยต่อผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย โดยคุณพัชร์กมลพร มีความเห็นว่า หลายครั้งเกิดจากสาเหตุว่าโรงงานไม่มีใบอนุญาต หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำการยึดใบอนุญาตโรงงานไปแล้ว แต่โรงงานอุตสาหกรรมยังดำเนินกิจการต่อ หรือมีการเปลี่ยนชื่อใบอนุญาตเป็นอีกบริษัทอื่นแทน

คุณพัชร์กมลพร กล่าวว่า “จากสถานการณ์ของโรงงานอุตสาหกรรม ควรมีการควบคุมกระบวนการนำเข้าขยะให้ดีและเหมาะสม ไม่ควรนำขยะเข้ามาแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากอ้างอิงตามกฎหมายและระเบียบข้อกำหนดแล้ว บริษัทผู้ให้บริการต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง มีการควบคุม กระบวนการผลิต มีการขอใบอนุญาตของขยะแต่ละประเภทโดยเฉพาะ เช่น ใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใบอนุญาตนำเข้าขวดพลาสติก เป็นต้น ขยะแต่ละประเภทต้องผ่านกระบวนการตามที่ระบุและชี้แจ้งไว้ อาทิ ขยะประเภทขวดพลาสติกจะต้องได้รับการทำความสะอาดก่อนนำเข้าประเทศ หรือมีการบดมาแล้ว โดยมีความยาวไม่เกิน 1-2 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบัน การตรวจสอบขยะนำเข้ามีความเข้มงวดมากขึ้น ต้องมีการตรวจสอบว่าขยะเหล่านั้นผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องแล้วจริงหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้จะใช้ระบบการสุ่มตรวจ แต่ปัจจุบัน กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมทำการตรวจสินค้าทุกตู้ โดยมีการเอ็กซเรย์และตรวจสอบสินค้า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหน้าที่ตรวจสินค้า ส่วนกรมศุลกากรทำหน้าที่ตรวจเอกสาร โดยกรมโรงงานได้ใช้ระบบ e-tracking เมื่อเปิดตู้เสร็จแล้ว จะทำการล็อกซีล ซึ่งเป็นซีลของกรมศุลกากร ด้วยระบบ GPS ทำการติดตามสินค้าไปยังโรงงาน โดยมีการระบุว่าโรงงานตั้งอยู่ที่ไหนและทำการล็อกว่าต้องไปโรงงานแห่งนี้เท่านั้น ไม่สามารถไปโรงงานแห่งอื่นได้”

ทั้งนี้ คุณพัชร์กมลพร มองว่า แม้ว่าปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ระหว่างระงับการนำเข้า แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีการดำเนินการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป เพียงแค่ต้องมีการออกมาตรการควบคุม โดยคุณพัชร์กมลพร ให้ความเห็นว่า “เรามองว่า ในอนาคตมีโอกาสที่ประเทศไทยจะเปิดให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ เพราะมีการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยอาจไม่สามารถงดนำเข้าสินค้าประเภทนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังต้องติดตามความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาลต่อไปว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ ทุกอย่างสามารถทำได้ ทุกสถานการณ์มีทางออก เพียงแต่ต้องมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนและเข้มงวด”

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้สายการเดินเรือ ONE ประเทศไทย เปิดรับจองพื้นที่ระวางสินค้าวันแรก
บทความถัดไปวิเคราะห์อนาคตใหม่ของ freight forwarder ในยุคดิจิทัล
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way