ทิศทางธุรกิจและความท้าทายในการจัดการคลังสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งในประเทศไทย

0
9671

สินค้ากลุ่มอาหารทะเลสดและอาหารทะเลแช่แข็ง ถือเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจห้องเย็น (Cold Storage) หรือ ธุรกิจคลังสินค้าเย็น ทั่วประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2018 ที่ผ่านมา อัตราการส่งออกอาหารทะเลของไทยคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณความต้องการบริการคลังสินค้าเย็นสำหรับจัดเก็บอาหารทะเลแช่แข็งที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการคลังสินค้าเย็นต่างก็เร่งพัฒนาคุณภาพและขอบข่ายการให้บริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเอาชนะความท้าทายในตลาดโลจิสติกส์สินค้าควบคุมอุณหภูมิทั้งในและต่างประเทศ อย่างที่เราทราบกันดีว่า การถนอมอาหารทะเลด้วยวิธีการแช่แข็งอย่างถูกวิธีจะสามารถรักษาความสดใหม่ของอาหารทะเลและยืดระยะเวลาการจัดเก็บให้ยาวนานยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ให้บริการคลังสินค้าเย็นจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งทั้งการจัดจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออก

เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจการให้บริการคลังสินค้าเย็นและการจัดเก็บสินค้าแช่แข็งให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น LM ได้ร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านคลังสินค้าเย็นสองท่าน คือ คุณจิตชัย นิมิตรปัญญา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และ ดร. สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม นายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจคลังสินค้าเย็น ความท้าทายในการบริหารจัดการคลังสินค้าเย็น รวมถึงทิศทางธุรกิจของคลังสินค้าเย็นสำหรับอาหารทะเลแช่แข็งในอนาคต

Keeping Seafood Cool and Fresh

คุณจิตชัย นิมิตรปัญญา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังมีผู้คนจำนวนมากมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ อาหารทะเลแช่แข็ง ว่าเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ขาดความสดใหม่ และยังคงเข้าใจว่าการนำอาหารทะเลไปแช่แข็งจะส่งผลให้อาหารเหล่านั้นสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจไม่ทราบว่า คุณภาพของอาหารทะเลและคุณค่าทางโภชนาการจะไม่ลดลงเลยหากการแช่แข็งและการจัดเก็บนั้นได้รับการดำเนินการผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง

คุณจิตชัย อธิบายว่า “การแช่แข็งอาหารทะเลอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารทะเล ซึ่งจะส่งผลให้การนำอาหารทะเลไปแช่แข็งสามารถคงความสดของสินค้าไว้ได้โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติของอาหารทะเล อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ในการขนส่ง เพราะจะทำให้สินค้าลดความเสี่ยงต่อการเน่าเสีย”

คุณจิตชัย ได้อธิบายต่อว่า “สำหรับการจัดเก็บสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู หรือปลาต่างๆ หัวใจสำคัญของการปฏิบัติการคือการป้องกันการเน่าเสีย โดยหลักการสำคัญในการจัดเก็บรักษาอาหารทะเลแช่แข็ง คือ การรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ผู้ให้บริการคลังสินค้าควรจะควบคุมอุณหภูมิภายในคลังสินค้าเย็นสำหรับการจัดเก็บอาหารทะเลแช่แข็งให้คงที่อยู่ในระดับ -18 องศาเซลเซียสเท่านั้น เนื่องด้วยความเย็นระดับนี้จะทำให้ไม่มีจุลินทรีย์ชนิดใดสามารถเจริญเติบโตได้เลยซึ่งจะเป็นการรักษาคุณภาพของสินค้าไว้ได้ดีที่สุด”

Impacts of New Technology

นอกจากปัจจัยด้านความละเอียดและความแม่นยำในการควบคุมอุณหภูมิแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของการให้บริการคลังสินค้าเย็นสำหรับอาหารทะเลแช่แข็ง คือการบริหารจัดการและควบคุมเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง

ปัจจุบัน ธุรกิจคลังสินค้าเย็นมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการปฏิบัติการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval System: ASRS) ที่สามารถอำนวยความสะดวกในการคัดแยกประเภทและจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้าเย็น การนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในขั้นตอนการปฏิบัติการ ไปจนถึงระบบบริหารการรับฝากและบริหารสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง (Cold Chain Management System: CCMS) ที่จะบันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวและการเคลื่อนย้ายสินค้าทุกชิ้นในทุกขั้นตอน ทำให้ทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าสามารถติดตามสถานะของสินค้าได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์

ดร. สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม นายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ใช้งานอาจจะต้องแลกมาด้วยความท้าทายในการบริหารจัดการที่สูงยิ่งกว่าในอดีต โดยคุณจิตชัย กล่าวว่า “แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านี้อาจกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นนับเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ต้นทุนด้านบุคลากร ตลอดจนการฝึกอบรมพนักงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามการนำเข้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในคลังสินค้าเย็น”

ดร. สุวันชัยกล่าวว่า “ธุรกิจห้องเย็นมีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก ดังนั้น ผู้ให้บริการห้องเย็นจึงต้องมีความระมัดระวังในการเลือกใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลดต้นทุนพลังงานโดยการเปลี่ยนระบบทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น”

นอกจากนี้ การบริหารจัดการเทคโนโลยีควบคู่กับการบริหารต้นทุนด้านพลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ ก็ยังคงเป็นอีกเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจคลังสินค้าสำหรับอาหารทะเลแช่แข็งในปัจจุบัน

โดยคุณจิตชัย กล่าวว่า “ความท้าทายสูงสุดของการจัดเก็บอาหารทะเลแช่แข็งคือการรักษามาตรฐานบริการให้คงที่ หากผู้ให้บริการคลังสินค้าเย็นมีมาตรฐานในการให้บริการที่ชัดเจนและครอบคลุมมากเพียงพอจะสามารถป้องกันความผิดพลาดขณะปฏิบัติงานได้ ดังนั้น บริษัทผู้ให้บริการจึงควรมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมโดยตลอด เพื่อดูแลและดำเนินงานอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานและเงื่อนไขที่เข้มงวดขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (Good Manufacturing Practice: GMP) ตลอดจนมาตรฐานกรมปศุสัตว์และกรมประมง”

On the Horizon 

สำหรับปี 2019 นี้ หลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ว่าธุรกิจห้องเย็นสำหรับอาหารทะเลแช่แข็งจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยด้านคุณภาพของการให้บริการอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจห้องเย็นต่อไป เนื่องจากทางสมาคมคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการที่จะยกระดับธุรกิจห้องเย็นทั่วประเทศให้มีมาตรฐานการให้บริการที่เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา โดยผ่านการกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับผู้ประกอบการห้องเย็นทั่วประเทศในอนาคต โดย ดร. สุวันชัย กล่าวว่า “แม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจห้องเย็นจะมีอัตราการแข่งขันที่สูง แต่ยังมีผู้ให้บริการห้องเย็นจำนวนมากที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษามาตรฐานการให้บริการให้อยู่ในระดับที่ดีและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ดังนั้น ในอนาคตสมาคมจึงจะดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานห้องเย็นในประเทศให้อยู่ในระดับสากล โดยทางสมาคมกำลังดำเนินการเรื่องการกำหนดมาตรฐานกลางเพื่อให้ผู้ประกอบการห้องเย็นในประเทศไทยได้พัฒนาและจัดระบบการให้บริการให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา”

หากโครงการกำหนดมาตรฐานห้องเย็นทั่วประเทศของสมาคมคลังสินค้าฯ ประสบผลสำเร็จ ในอนาคตเราอาจได้เห็นธุรกิจห้องเย็นที่พัฒนาได้ไกลกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมาตรฐานกลางฉบับนี้อาจกลาย เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานรูปแบบใหม่ให้กับบริการคลังสินค้าไทยต่อไปอีกในอนาคต

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Swisslog ผู้ให้บริการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลก พร้อมขยายตลาดในประเทศไทย
บทความถัดไปJWD ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ สู่ผู้นำด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way