BTL มอบบริการขนส่งตู้สินค้าโดยรถไฟ แหลมฉบัง-สปป.ลาว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

0
4320

ในโลกยุคปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น หลายประเทศมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อลดข้อจำกัดในการส่งออกนำเข้าสินค้า ส่งผลให้สินค้าสามารถเดินทางข้ามแดนได้สะดวกยิ่งขึ้น ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพจึงเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้า และความเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ในยุคที่การค้าและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนมีขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานที่สลับซับซ้อนกว่าในปัจจุบันนี้อย่างมาก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แห่งหนึ่ง เป็นผู้บุกเบิกให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน  ในช่วงเวลาที่หลายประเทศยังไม่พร้อมเปิดรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งก็คือ Bangkok Terminal Logistics หรือ BTL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ NGOW HOCK CO.,LTD โดย BTL เป็นผู้บุกเบิกการให้บริการขนส่งสินค้าระบบรางด้วยตู้สินค้าจากประเทศไทยไปยังมาเลเซีย นอกจากนี้ BTL ยังได้ขยายการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนและขนส่งสินค้าผ่านแดน (In-transit Cargo Transport Services) ในปี 1992 โดยเป็นผู้ให้บริการหนึ่งในห้ารายแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เมียนมา และกัมพูชาอีกด้วย

ล่าสุด BTL เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนด้วยรถไฟไปยัง สปป. ลาว อย่างเป็นทางการ โดยนิตยสาร LM มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณไพฑูรย์ เวชชพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส บริษัท Bangkok Terminal Logistics เกี่ยวกับความสำคัญของการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในครั้งนี้

Direct Train to Laos

คุณไพฑูรย์ เวชชพิพัฒน์

เป็นเวลากว่า 27 ปีแล้วที่ BTL ให้บริการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยัง สปป. ลาว ด้วยรถบรรทุก แต่ด้วยปริมาณของสินค้าที่เพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง และการจราจรที่ทวีความแออัดมากขึ้น ทำให้ BTL เริ่มมองหาวิธีการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน จนกระทั่งในปี 2009 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดบริการเดินขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารเส้นทางหนองคาย-ท่านางแล้ง (สปป.ลาว) เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นอีก 4 ปี BTL ก็ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจากท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ไปยังจังหวัดหนองคาย แต่เนื่องจากระบบรองรับตู้สินค้าที่สถานีปลายทางยังไม่แล้วเสร็จ BTL จึงวิ่งรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าต่อไปยังปลายทางในประเทศลาว

อย่างไรก็ตาม BTL ก็ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาบริการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคุณไพฑูรย์กล่าวว่า “เรามองว่าบริการดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งบริการที่สมบูรณ์ในทัศนะของเราคือ การที่เราสามารถให้บริการขนส่งตู้สินค้าจากทางเรือไปยังปลายทางด้วยรถไฟได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งเมื่อลานวางตู้สินค้าที่สถานีปลายทางท่านาแล้งพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเชิญเราในฐานะบริษัทที่มีประสบการณ์ในการขนส่งสินค้าระบบรางมายาวนานกว่า 30 ปี มาเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเที่ยวประวัติศาสตร์เที่ยวแรกนี้ โดยขบวนรถไฟได้เดินทางออกจากท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 30 กรกฎาคม และไปถึงปลายทางสถานีท่านาแล้งใน สปป.ลาว ในวันที่ 1 สิงหาคม โดยมีตู้สินค้าจำนวน 40 ทีอียูร่วมเดินทางไปด้วย

Train Services and Cost Saving

บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนด้วยรถไฟไปยัง สปป. ลาว คือทางเลือกใหม่ที่มอบประโยชน์และข้อได้เปรียบที่บริการขนส่งรูปแบบอื่นไม่สามารถทำได้ โดยคุณไพฑูรย์กล่าวว่า “ปกติแล้วบริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากประเทศไทยต้องใช้รถบรรทุกในการให้บริการ ซึ่งแม้ว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุกจะมีความรวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง กล่าวคือหากลูกค้าต้องการส่งตู้สินค้า 40 ตู้ไปยัง สปป.ลาว ลูกค้าจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวน 40 คัน พร้อมคนขับอีก 40 คน เพื่อนำส่งสินค้าไปส่งยังปลายทาง ทั้งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน  รวมถึงประเด็นเรื่องของมลภาวะที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถบรรทุก 40 คันระหว่างการขนส่ง ในขณะที่รถไฟหนึ่งขบวนสามารถขนส่งตู้สินค้าได้ประมาณ 40-60 ตู้ นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลง รวมทั้งยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งลงได้อีกด้วย ทั้งนี้ คุณประโยชน์ที่มากมายดังกล่าว ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนการขยายรางรถไฟจากระบบทางเดี่ยวให้กลายเป็นระบบทางคู่ในอนาคต นั่นหมายถึงระยะเวลาขนส่ง (Transit Time) ที่จะลดลงได้สูงสุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงตอนนั้น การขนส่งสินค้าทางรถไฟในประเทศไทยก็จะมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับในประเทศชั้นนำของโลก และจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของไทยรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ”

“นอกจากนี้รัฐบาลไทย สปป.ลาว และสาธารณะรัฐประชาชนจีนยังได้ร่วมลงนามข้อตกลงในการสร้างสะพานแห่งใหม่ที่จะเชื่อมต่อไทยและสปป.ลาวเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt, One Road เพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้นมา โดยสะพานแห่งใหม่นี้จะมีรางรถไฟขนาด 1.00 เมตร ซึ่งเป็นขนาดรางที่ใช้ในประเทศไทยจำนวน 2 ราง และมีรางขนาด 1.435 เมตร จำนวน 2 ราง ซึ่งเป็นรางของรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนและจังหวัดหนองคาย นั่นหมายความว่าเมื่อทางรถไฟดังกล่าวแล้วเสร็จ ภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนก็จะเชื่อมโยงถึงกันได้โดยตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

Expanding Services

แม้จะมีบริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทางรถไฟแล้ว แต่ทาง BTL ก็ยังคงให้บริการขนส่งข้ามพรมแดนด้วยรถบรรทุกเช่นเดิม เพื่อมอบทางเลือกที่หลากหลายในการให้บริการแก่ลูกค้า และนอกจากบริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟไปยังสปป.ลาวแล้ว BTL ยังเผยอีกว่า BTL มีแผนขยายบริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนด้วยรถไฟไปยังประเทศกัมพูชาด้วย จากการที่ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปตได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการยกเลิกการเดินรถไปตั้งแต่ปี 2517 จากเหตุความไม่สงบภายในของกัมพูชา

บริการใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นความพยามยามในการตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ ที่ต้องการทางเลือกที่หลากหลายในการขนส่งสินค้า และด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระบบราง วันนี้ BTL พร้อมแล้วที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการขนส่งสินค้าทางรถไฟในลุ่มน้ำโขงได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

  • แท็ก
  • BTL
บทความก่อนหน้านี้IAPH พลิกโฉมองค์กรเพื่อรักษาบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
บทความถัดไปAutopilot Forklifts เทคโนโลยี AI ในการจัดการคลังสินค้ายุคใหม่
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way