‘ปรับตัว เปิดใจ ไม่หยุดเรียนรู้’ แนวคิดสำคัญที่ผลักดันให้รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการเดินเรือ ท่าเรือ และโลจิสติกส์กว่า 31 ปี ที่ไม่เคยหยุดพัฒนา พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ และรับมือทุกความท้าทาย จนก้าวสู่ความสำเร็จในการทำงานอย่างเต็มภาคภูมิ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกเหนือจากความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว ทัศนคติและมุมมองในการทำงานก็ถือเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่นำพาให้เราประสบความสำเร็จและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี ซึ่งการมีทัศนคติในการทำงานที่ดีและเปิดใจรับมุมมองใหม่ๆ เองนี้แหล่ะที่มีส่วนสนับสนุนให้เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ สามารถพัฒนาตนเองจนก้าวสู่ความสำเร็จ และพร้อมรับมือความท้าทายต่างๆ ได้อย่างไม่ย่อท้อ
นิตยสาร LM ได้พูดคุยกับ เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และได้ขอให้เขาบอกเล่าเกี่ยวกับมุมมองและแนวคิดในการทำงาน พร้อมประสบการณ์ในการรับมือความท้าทายต่างๆ ตลอดจนแนวความคิดดีๆ ที่ต้องการแบ่งปันและส่งต่อถึงบุคลากรรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
The Beginning of the Legend
เรือเอกกานต์ เริ่มต้นเส้นทางการทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลและโลจิสติกส์หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และเข้ารับราชการในกองทัพเรือในฐานะนายทหารประจำเรือเป็นเวลาห้าปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรของกองทัพเรือ และได้เข้าทำงานในการท่าเรือแห่งประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 1992 โดยรับตำแหน่งรองต้นกลเรือสันดอน โดยเรือเอกกานต์ เล่าย้อนถึงการทำงานในช่วงแรกเริ่มในเส้นทางนี้ว่า “ผมเริ่มทำงานกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในตำแหน่งรองต้นกลเรือ โดยรับตำแหน่งนี้อยู่ราว 16 ปี จากนั้นจึงเข้ารับราชการในตำแหน่งต้นกล ฝ่ายการร่องน้ำ สายงานวิศวกรรมของการท่าเรือฯ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองฝ่ายการร่องน้ำ และเป็นหัวหน้าฝ่ายการร่องน้ำในท้ายสุด ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพในฝ่ายบริหารงานสนับสนุนและฝ่ายเครื่องมือทุ่นแรง และได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาประจำที่ท่าเรือแหลมฉบังในฐานะรองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง”
ในทุกการเปลี่ยนแปลง การรับบทบาทหน้าที่ใหม่ และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไป ถือเป็นความท้าทายและเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สำหรับชายคนนี้เสมอ เรือเอกกานต์ กล่าวว่า “จากการทำงานในการท่าเรือฯ มาหลายปี ผมมองว่า งานในการท่าเรือฯ มีหลายมิติ เริ่มจากการรับราชการในฝ่ายการร่องน้ำ ช่วงนั้นเราได้เรียนรู้และทำงานเฉพาะทาง ด้านการขุดลอก ซ่อมบำรุง และวิศวกรรม เรามีโอกาสสั่งสมประสบการณ์มากมาย จากนั้นเมื่อย้ายไปทำงานในท่าเรือกรุงเทพ รูปแบบการทำงานก็เปลี่ยนไป เราเปลี่ยนมาทำงานในระดับบริหารจัดการ ต้องพบปะพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการ ตัวแทนสายการเดินเรือ เจ้าของสินค้า ผู้นำเข้า-ส่งออก หรือพนักงานใหม่ๆ ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เราต้องรับมือและปรับตัว”
“นอกจากนี้ งานบางส่วนที่เรามีประสบการณ์ มีความรู้เดิมเป็นพื้นฐานก็มีส่วนส่งเสริมงานใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเข้ารับตำแหน่งใหม่ที่ท่าเรือแหลมฉบังและมีหน้าที่ร่วมดูแลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสสามในส่วนแรก ซึ่งเป็นงานขุดลอก สร้างแผ่นดิน และถมทะเล เราสามารถนำความรู้เดิมจากการทำงานในเรือสันดอนมาใช้ และจากประสบการณ์การทำงานในท่าเรือกรุงเทพที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ มีปฏิสัมพันธ์อันดีกับเขา ทำให้เราเข้าใจมุมมองความต้องการของผู้ประกอบการในท่าเรือ เข้าใจข้อจำกัดและสัมผัสปัญหาของเขาได้ดีและลึกซึ้งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ส่วนของเนื้องานที่เราไม่เคยมีประสบการณ์หรือมีความรู้เชิงลึกในด้านนั้น เราก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้ ทำความรู้จักกับความท้าทายใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ และเนื้องานใหม่อย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
Experience Leads to Success
การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรือเอกกานต์มีแนวคิดในการพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถรับมือกับสถานการณ์หลากหลายได้อย่างไม่ย่อท้อ เมื่อเราสอบถามถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาได้เผชิญมาตลอดอายุการทำงาน และให้เลือกเหตุการณ์ที่น่าจดจำที่สุดนั้น เรือเอกกานต์ ได้กล่าวว่า “จากการทำงานตลอด 30 ปี ผมมีโอกาสได้พบเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่ละเหตุการณ์ก็ล้วนมีความน่าจดจำและสำคัญทัดเทียมกัน ไม่มีเหตุการณ์ไหนดีไปกว่ากัน การเลือกยกมาเพียงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจึงถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากความท้าทายในแต่ละช่วงเวลาไม่สามารถวัดเทียบกันได้ ชีวิตในแต่ละช่วงวัย เรามีประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวคิดที่ต่างกัน ทุกความท้าทายน้อยใหญ่ที่เราเผชิญ ทุกเหตุการณ์สำหรับผมจึงมีความสำคัญเท่ากัน”
ทุกครั้งที่มีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามา เรือเอกกานต์ไม่เพียงเผชิญหน้ากับมันเท่านั้น แต่เขายังพยายามหาคำตอบและทำความเข้าใจกับเหตุการณ์นั้นให้ได้อย่างถ่องแท้ โดยได้ยกตัวอย่างประสบการณ์แต่ละช่วงการทำงานให้เราฟังคร่าวๆ ว่า “ช่วงที่ทำงานในเรือสันดอนนั้นมักจะมีความท้าทายในเรื่องของเครื่องยนต์หรือการซ่อมบำรุง ทำให้เราต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากตำราเรียนและขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์อยู่เสมอ เมื่อเจอปัญหาต่างๆ เราก็จะพยายามทำความเข้าใจ ตั้งข้อสงสัย และพิสูจน์สมมติฐานนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เรือของเราเจอกับปัญหา เราก็ได้เริ่มต้นสันนิษฐานสาเหตุและพิสูจน์ข้อมูลนั้นผ่านการคำนวณเชิงวิศวกรรม ซึ่งเมื่อพบว่า สาเหตุเกิดจากระบบขุดลอกตามที่เราคาดการณ์ไว้จริง จึงยื่นเรื่องไปยังบริษัทเจ้าของระบบ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และเมื่อตรวจสอบ บริษัทก็ยอมรับข้อผิดพลาดในส่วนนี้ ทำให้เราภูมิใจกับการพยายามค้นหาสาเหตุและพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน รวมทั้งยังได้เข้าใจว่า ระบบเทคโนโลยีขุดลอกระดับโลกก็มีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน”
หลังจากนั้นเมื่อย้ายไปทำงานที่ท่าเรือกรุงเทพ เรือเอกกานต์ได้มีบทบาทในการวิเคราะห์และปรับแผนการรับมือเหตุฉุกเฉินในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งภายหลังการปรับปรุง ทางท่าเรือกรุงเทพได้นำแผนดังกล่าวมาใช้งานจริงและช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่า “ในช่วงที่ผมทำงานในท่าเรือกรุงเทพ ทางท่าเรือฯ มีการซักซ้อมแผนฉุกเฉินอยู่เสมอ ทั้งการยกระดับแผนป้องกันการก่อการร้ายตามมาตรฐานที่ทางสหรัฐอเมริกาผลักดัน และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากคนเข้า-ออก โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บจากผู้ที่เข้าออกประเทศ จึงได้มีการซักซ้อม หลังการซ้อมในครั้งแรก ผมได้สังเกตเห็นช่องโหว่ของความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคจากการปล่อยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ท่าเรือฯ จึงเสนอแนวคิดว่า เราควรให้เรือสินค้าที่ต้องสงสัยว่ามีผู้ป่วยอยู่ในเรือสินค้าจอดเรือรอข้างนอก ยังไม่อนุญาตให้เข้ามาในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีความรัดกุมมากกว่าแผนแรก ซึ่งหลังปรับปรุงก็ทำให้ในปีนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้รับรางวัลจากแผนการใหม่นี้ และมีการใช้แผนดังกล่าวจริงเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น”
นอกจากนี้ ระหว่างที่เข้าทำงานในท่าเรือแหลมฉบัง เรือเอกกานต์ก็ได้มีโอกาสรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ส่วนงานที่สามารถพัฒนาได้ พร้อมผลักดัน ยกระดับ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภายในท่าเรือ โดยได้กล่าวว่า “สำหรับการทำงานในท่าเรือแหลมฉบัง ผมมองว่าความท้าทายหลักจะเกี่ยวข้องกับการหาเครื่องมือที่ทันสมัยให้สอดรับกับทิศทางในอนาคต ด้วยความที่เราเป็นท่าเรือนานาชาติ ต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระดับโลก ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังยังขาดเครื่องมือประเภทเรือตรวจการณ์ในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ เหตุน้ำมันรั่ว อุบัติภัย หรือโรคติดต่อ การมีเครื่องมือที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการก่อวินาศกรรมและป้องกันการละเมิดสินค้า นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินกรณีเข้ารับส่งผู้ป่วยจากการเทียบท่าของเรือท่องเที่ยว ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค และทำให้เราทราบขีดความสามารถในปฏิบัติการและการรับมือกับอุบัติภัยต่างๆ ภายในท่าเรือได้ดียิ่งขึ้น”
Look Deeper, Closer and Wider for Brighter Future
หลังการทำงานตลอด 31 ปี เรือเอกกานต์ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของท่าเรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาระบุว่าส่วนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัดคือ เทคโนโลยี ซึ่งนั่นทำให้เขามองว่าการปรับตัวและการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ก้าวทันเทคโนโลยีนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง หากเราสามารถผลักดันการพัฒนาในส่วนนี้ได้ก็จะทำให้การปฏิบัติการท่าเรือของไทยยกระดับขึ้นทัดเทียมกับประเทศท่าเรือหลักที่อยู่ใกล้เคียงได้ “เทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปอย่างมาก ในฐานะบุคลากรท่าเรือเอง เราก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี หากเราต้องการแข่งขันกับต่างประเทศ อีกทั้งเรายังต้องปรับมุมมองความคิดใหม่ รวมทั้งทำความเข้าใจกับกลไกต่างๆ ของกระบวนการขนส่งให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของกลไกราคาสินค้า ค่าขนส่ง ข้อจำกัด และปัญหาต่างๆ ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถพัฒนาไปได้ไกลยิ่งขึ้นด้วย” เรือเอกกานต์ กล่าว
“ท่าเรือแหลมฉบังถือเป็นท่าเรือหมายเลขหนึ่งของประเทศ หากเราต้องการพัฒนาให้ไกลขึ้น เราต้องมองภาพให้กว้างกว่าแค่ประเทศของตัวเอง ปัจจุบัน การแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้านมีสูงขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเรายังตามหลังอยู่หลายมิติ ดังนั้น เราจึงต้องเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมปรับทั้งตัวเองและองค์กรให้ก้าวทันเขาเสมอ”
ท้ายที่สุดนี้ เรือเอกกานต์ได้กล่าวถึงมุมมองและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกวันนี้สิ่งที่เรายังขาดอยู่ก็คือ การบูรณาการและการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันในแต่ละภาคส่วน หากเราสามารถแบ่งปันข้อมูลร่วมกันได้ก็จะสามารถช่วยเหลือกันและร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าของประเทศไทยให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปได้ เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนมุมมอง ยอมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น และเปิดใจรับฟังทัศนคติใหม่ๆ เพื่อนำมาช่วยกันพัฒนาและยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่