ท่าเรือ Tanjung Pelepas (PTP) ในมาเลเซีย เดินหน้าความมุ่งมั่นในการลบทัศนคติการการทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในท่าเรือว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น โดยท่าเรือได้ให้การสนับสนุนให้บุคลากรเพศหญิงให้ได้รับโอกาสในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในท่าเรือ โดยทั่วไปเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าผู้ชายเป็นใหญ่มายาวนาน โดยถูกมองว่าเป็นงานที่ใช้แรงงานหนัก ทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นสถานที่ทำงานที่ไม่เหมาะกับเพศหญิง และหากมีผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมนี้ก็มักทำงานในแผนกอื่นๆ อาทิ การเงิน ธุรการ กฎหมาย หรือลูกค้าสัมพันธ์ ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการจะมีไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น
ผลทางลบที่เกิดขึ้นจากทัศนคติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อโอกาสสำหรับบุคลากรเพศหญิงในการเติบโตตามสายงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ท่าเรือ ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้พยายามสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศและส่งเสริมโอกาสของบุคลากรเพศหญิงในภาคอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ท่าเรือ Tanjung Pelepas ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าในแนวทางของความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิดในการสร้างสรรค์โอกาสการทำงานที่เท่าเทียมในศตวรรษที่ 21 ด้วย
Mr. Marco Neelsen ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ท่าเรือ Tanjung Pelepas เชื่อมั่นว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องสำคัญในการสานต่อความสำเร็จที่มีมาอย่างต่อเนื่องในฐานะศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้าและธุรกิจเขตปลอดอากรของเอเชียแปซิฟิก โดยท่าเรือ Tanjung Pelepas ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสสำหรับตำแหน่งทางการงานของบุคลการเพศหญิง ทั้งในตำแหน่งปฏิบัติการและตำแหน่งบริหาร ผ่านการดำเนินโครงการที่หลากหลาย
“นอกเหนือจากการส่งเสริมความหลากหลายของพนักงานที่มาจากหลากหลายพื้นเพ ชาติพันธุ์ และเชื้อชาติ บุคลากรเพศหญิงที่ปฏิบัติงานที่ท่าเรือ Tanjung Pelepas ก็เป็นตัวอย่างที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ผู้หญิงต้องรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการทำงานนั่งโต๊ะ โดยการออกมามีส่วนร่วมในสายงานด้านปฏิบัติการ” Mr. Neelsen กล่าว
ปัจจุบัน ท่าเรือ Tanjung Pelepas มีบุคลากรหญิงทั้งหมด 7 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 393 คน ทั้งในตำแหน่งบริหารและที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร ซึ่งจากทั้งหมดนี้ 266 คน ทำงานในฝ่ายปฏิบัติการ วิศวกรรม ความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัย โดยภาพบุคลากรหญิงปฏิบัติการรถบรรทุกและเครนในท่าเทียบเรือถือเป็นภาพที่เห็นได้ปกติทั่วไปในท่าเรือฯ เริ่มตั้งแต่พนักงานที่มีอายุงานยาวนานที่สุด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่นำร่องหญิงคนแรกในมาเลเซีย บุคลากรหญิงเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่อย่างภาคภูมิใจ และพร้อมเผชิญความท้าทายกับภาพจำที่ว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ท่าเรือเป็นสถานที่ทำงานของผู้ชายเท่านั้น
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่