ท่าเรือแหลมฉบังหนุนเศรษฐกิจและการค้าไทยในฐานะท่าเรือเกตเวย์ระดับโลก

0
9914

ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าไทยมาอย่างยาวนานและยังเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญในการค้าระดับสากลอีกด้วยเราจะเห็นได้จากสถิติการเป็นท่าเรือเกตเวย์ติดอันดับต้นๆ
ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ท่าเรือแหลมฉบังได้รับการจัดอันดับให้เป็นท่าเรือเกตเวย์อันดับ 3 ของโลก (3rd World Gateway Port) เป็นรองท่าเรือ Los Angeles และท่าเรือ Long Beach ตามลำดับ
ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเพื่อสนับสนุนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั้งภายในประเทศและภูมิภาคเป็นหลัก
(ไม่นับรวมท่าเรือในประเทศจีน)

ในการจัดอันดับท่าเรือระดับโลก หน่วยงานจัดอันดับจะให้ความสำคัญกับปริมาณสินค้าผ่านท่า (Container Throughput) เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการสินค้าของท่าเรือนั้นๆ รวมถึงบทบาทของท่าเรือในภาคการค้าระดับโลก แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ท่าเรือที่มีปริมาณสินค้าผ่านท่ามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นท่าเรือศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้า (Transshipment Hub) ตั้งอยู่บนเส้นทางการเดินเรือหลักของโลก  ทำหน้าที่เป็นท่าเรือทางผ่านที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคสู่ภูมิภาค

โดยท่าเรือถ่ายลำสินค้า (Transshipment Port) แม้จะมีข้อได้เปรียบจากปริมาณสินค้าผ่านท่าปริมาณมากในด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดเชื่อมต่อสินค้าจากหลายประเทศ กับบริการที่มุ่งไปยังปลายทางสินค้าในอีกประเทศหรือในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งทำให้มีปริมาณสินค้าผ่านท่าสูงกว่าศักยภาพการผลิตและการบริโภคสินค้าจริงจากภายในประเทศหลายเท่าตัว อนึ่ง สายการเดินเรือจะใช้ประโยชน์จาก Transshipment Hub ในกรณีที่ต้องการขนส่งจากต้นทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่ง แต่มีปริมาณสินค้าไม่มากพอที่จะเปิดให้บริการตรงระหว่างต้นทางและปลายทางนั้นๆ

ในขณะเดียวกัน ท่าเรือเกตเวย์ (Gateway Port) แม้ว่าจะมีปริมาณสินค้าผ่านท่าน้อยกว่า แต่กลับมีความมั่นคงและสะท้อนศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าของประเทศนั้นได้มากกว่า เนื่องด้วยสถานะที่เป็นทั้งท่าเรือต้นทางและปลายทางในเส้นทางการขนส่ง หรือเป็นต้นทางการผลิตของสินค้าและเป็นปลายทางของผู้บริโภคสินค้าด้วย

ในปัจจุบัน สายเรือมีการเปิดบริการเส้นทางตรงไปยังท่าเรือต่างๆ เพิ่มขึ้น ผู้ส่งสินค้าส่วนใหญ่ย่อมเลือกใช้บริการเส้นทางตรงมากกว่าเส้นทางการบริการที่มีการถ่ายลำสินค้าระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้ ท่าเรือถ่ายลำสินค้ายังมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ของเศรษฐกิจโลก อาทิ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ที่ส่งผลให้มีการใช้เรือขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น และมีการเปิดบริการตรงเพิ่มมากขึ้น ข้อได้เปรียบในการปฏิบัติการท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ (Ultra Large Container Vessel) มีแนวโน้มลดลง รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณสินค้าที่มีการขนส่งไปยังประเทศต่างๆ

ท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะท่าเรือเกตเวย์อันดับ 3 ของโลก เป็นท่าเรือที่มีจุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

ซึ่งเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมหลักของไทย และยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของเอเชียอีกด้วย โดยในปี 2020 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวม 7.642  ล้านทีอียู และมีตู้สินค้าส่งออกสูงถึง   3.771 ล้านทีอียู นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางราง และทางถนน (Multimodal Transport) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีน ผ่านเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยและเอเชีย

ในฐานะท่าเรือปลายทาง ท่าเรือแหลมฉบังมีข้อได้เปรียบในการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีตัวเลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยระบบการขนส่งทางรางซึ่งเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ICD ลาดกระบัง การขนส่งทางน้ำด้วยเรือชายฝั่งไปยังท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือทางภาคใต้ การขนส่งทางถนนที่มีการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมโยงไปยังหลายภูมิภาค ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถขนส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายการขนส่งทางอากาศสู่ปลายทางอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

อย่างไรก็ตาม การเป็นท่าเรือเกตเวย์ระดับโลกนั้น ไม่เพียงแต่อาศัยทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และโครงข่าย การเชื่อมต่อที่ดี แต่ยังต้องมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในการรองรับและจัดการสินค้าปริมาณมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการบริการหลังท่าหรือการปฏิบัติการท่าเรือ โดยท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีความลึกหน้าท่าถึง 16 เมตร ซึ่งปฏิบัติการโดยผู้ให้บริการท่าเทียบเรือระดับโลก (Global Terminal Operator : GTOs) และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ตัวอย่างเช่น ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล หรือรถหัวลากอัตโนมัติ เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ ช่วยเน้นย้ำถึงการเป็นท่าเรือเกตเวย์ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการเปิดบริการใหม่เชื่อมตรงสู่ท่าเรือแหลมฉบังจากสายเรือระดับโลกต่างๆ ทั้งเส้นทางระยะใกล้ (Short Haul) และระยะไกล (Long Haul)รวมไปถึงบริการแบบเพนดูลัม (Pendulum Service) ซึ่งเชื่อมต่อสินค้าสู่หลายภูมิภาค และใช้เรือขนส่งสินค้าขนาดระวาง 24,000 ทีอียู ในการปฏิบัติการ

โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา สายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ได้นำเรือ MSC MINA ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่พิเศษ (Ultra Large Container Vessel) เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังในบริการ Lion-Jaguar ซึ่งเป็นบริการแบบเพนดูลัมเชื่อมต่อ ยุโรป-เอเชีย-อเมริกา เนื่องด้วยสายการเดินเรือฯ เล็งเห็นความสามารถทางการค้าของไทยและศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่

เรือ MSC MINA

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาเป็นเวลาหลายปี แต่การท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับสินค้าและการให้บริการ เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือเกตเวย์ชั้นนำของโลกได้อย่างเต็มตัว


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้LEO จับมือ China Post เสริมประสิทธิภาพปฏิบัติการขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซทั่วโลก
บทความถัดไปJWD เผยยุทธศาสตร์ 5 ปี ขยายฐานธุรกิจขนส่งต่อเนื่อง สร้างศูนย์กระจายสินค้าเย็น มุ่งสร้าง New S-Curve ดันรายได้ทะลุหมื่นล้าน
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.