TNSC เผยยอดส่งออก มิ.ย. คาดติดลบต่อเนื่อง

0
2258

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน และคุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ แถลงข่าวการส่งออกเดือนมิถุนายน 2020

โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนมิถุนายน 2020 มีมูลค่า 16,444 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 23.17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 520,608 ล้านบาท หดตัว 23.06 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2020 มีมูลค่า 14,833 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 18.05 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 475,986 ล้านบาท หดตัว 17.94 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนมิถุนายน 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,610 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 44,621 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนมิถุนายนหดตัว 17.20 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ภาพรวมช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2020 ไทยมีการส่งออกรวมมูลค่า 114,342 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.09 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,562,327 ล้านบาท หดตัว 8.29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 12.62 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,269,175 ล้านบาท หดตัว 13.94 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน มกราคม ถึง มิถุนายน 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 10,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 293,152 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือน มกราคม ถึง มิถุนายน หดตัวลง 8.35 เปอร์เซ็นต์

การส่งออกในเดือนมิถุนายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัว คือ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย

ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ

ทั้งนี้ TNSC คงคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2020 หดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ (ณ สิงหาคม 2020) บนสมมติฐานค่าเงิน 31.5 (+-0.5) บาทต่อหนึ่งเหรียญ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) การส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ work from home ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากประชาชนมีความต้องการสำรองสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพในช่วงการล็อคดาวน์ รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งบ้าน และ 2) ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID–19 โดยหากวัคซีนพร้อมใช้งานได้เร็ว ประชาชนและภาคธุรกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID–19 ทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ ทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการล็อคดาวน์ต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร กระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก 2) สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน และระหว่างจีนและสหราชอาณาจักร 3) ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2019 จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ถูกกดดันโดยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ กลุ่มพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีทิศทางการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ 5) การขาดสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับผลของการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้าจากผลกระทบการระบาด COVID-19 และ 6) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ แม้ว่าเริ่มมีการผ่อนคลายจากการล็อคดาวน์ แต่ยังมีอุปสรรคจากระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีจำกัด ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MSC จารึกประวัติศาสตร์ ด้วยเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเทียบท่าในประเทศไทย
บทความถัดไปFPT จับมือ CPAC เปิดตัวโครงการ AEI ยกระดับโรงงานและคลังสินค้า
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.