คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2019 กับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC)

0
2858

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับความผันผวนจากสถานการณ์ความตึงเครียดทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ แต่ยังถือได้ว่าสภาพเศรษฐกิจโลกยังทรงตัวได้ดี และมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคการส่งออกสินค้าไทยที่มีการเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 นี้ ยังคงมีปัจจัยและความท้าทายในหลายๆ ประเด็นที่ผู้ส่งออกและผู้ให้บริการจัดการขนส่งสินค้าทางเรือต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายรอบด้านที่ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือต้องเผชิญในปี 2019 นี้ นิตยสาร LM ได้พูดคุยกับคุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) เกี่ยวกับมุมมองและวิสัยทัศน์ที่มีต่อแนวโน้มการส่งออกในปีนี้ รวมถึงปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย

Challenges on the Horizon

คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์

สำหรับปี 2019 กระทรวงพาณิชย์มีการประกาศตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) คาดการณ์การเติบโตด้านการส่งออกของไทยอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความท้าทายจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ทั้งในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะเริ่มส่งผลชัดเจนขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา และผลกระทบทางอ้อมจากการกีดกันด้วยมาตรการภาษีในกลุ่มสินค้าของจีนที่ไทยเป็นซัพพลายเชนให้ เช่น ส่วนประกอบรถยนต์ คอมพิวเตอร์และเครื่องจักร เป็นต้น

รวมถึงกรณี Brexit ที่ต้องรอความชัดเจนจากสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร ซึ่งคาดว่าไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเจรจาเรื่องการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักรที่มีท่าทียืดหยุ่นมากขึ้น แต่สำหรับสหภาพยุโรปที่ไทยโดนตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ไปแล้วนั้น ต้องรอให้สถานการณ์การเมืองในประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับโลกก่อน จึงจะสามารถเข้าหารือได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการประกาศลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ภายใต้กฎใหม่ขององค์การทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2020 ซึ่งจะเริ่มมีผลต่อต้นทุนทางโลจิสติกส์ภายในปี 2019 โดย TNSC มีการติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและความสมเหตุสมผลในการเก็บค่าบริการเพิ่มจากผู้ประกอบการ

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ สิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างมากคือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางด้านนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศและการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องมีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการอ่อนค่าของค่าเงินอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ถึงแม้ว่าการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากเหตุปัจจัยต่างๆ แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในการเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพิ่มความสามารถในการผลิต การเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนตลาดส่งออกปัจจุบัน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญอย่างอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คุณกัณญภัค กล่าวว่า “สำหรับผู้ส่งออกไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตร ยกเว้นยางพาราและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2019 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าในภูมิภาคอื่น แม้กระทั่งในประเทศที่เป็นตลาดศักยภาพสูงอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน จากสถิติในปีที่ผ่านมาพบว่า ไทยมีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด ขณะที่ตลาดในจีนมีการชะลอตัวด้านการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึงประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับกับกาตาร์ และปัญหาเรื่องความไม่สงบต่างๆ ซึ่งในปีนี้เราอยากขยายตลาดการส่งออกของไทยไปยังประเทศในแถบอเมริกาใต้และแอฟริกาให้มากขึ้น เพื่อเสาะแสวงหาตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก”

Making Preparations

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ TNSC เล็งเห็นว่ามีผลต่อการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก คือการวางแผนรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตจากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศเชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุดและสัตหีบ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินหลักของไทย

“สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้คือการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อปฏิบัติการทางโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงการขนส่งในทุกโหมด ตัวอย่างเช่น ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ควรมีการผลักดันโครงการรถไฟทางเดี่ยว (Single Rail Transfer Operator) ให้เห็นผลโดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแล้ว ผู้ประกอบการยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางโลจิสติกส์ที่ลดลง ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านระบบขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือกับภายนอกให้มีความต่อเนื่องและเพียงพอต่อการขยายตัวของปริมาณสินค้าและเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาเทียบท่า” คุณกัณญภัค กล่าว

ทั้งนี้ TNSC ในฐานะของหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ส่งออกไทยได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการส่งออกสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในปี 2019 โดยคุณกัณญภัค กล่าวถึงเป้าหมายของ TNSC ว่า “ในขณะนี้ทาง TNSC มีแผนงานสองชิ้นที่ช่วยผลักดันด้านการส่งออก โดยจะมีการจัดทำรายงานสรุปส่งให้กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แผนงานแรกเป็นการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างถนนกับรางและท่าเรือให้เอื้อต่อการส่งออกของไทยยิ่งขึ้น ซึ่งจะเสนอแก่กระทรวงคมนาคม และแผนงานจัดตั้งแพล็ตฟอร์ม e-Commerce ระดับประเทศ แบบ B2B เหมือนที่มีการใช้งานในจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยจะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเสนอแก่กระทรวงพาณิชย์ต่อไป”

ท่ามกลางความเสี่ยงมากมายที่ต้องเฝ้าระวังจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภายในประเทศในปีนี้อาจสร้างความกังวลให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่จากการคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2019 จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการยังสามารถสร้างโอกาสให้กับการส่งออกได้อีกไม่น้อยในสถานการณ์เช่นนี้ โดยมีปัจจัยบวกอื่นๆ คอยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อด้านการขนส่งระหว่างท่าเรือและท่าอากาศยานที่สำคัญของประเทศ

“สำหรับในปี 2019 ถือเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจและเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงควรมีการติดตามข่าวสาร กฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนหามาตรการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกัน ในส่วนของการทดแทนแรงงาน ควรมีการพิจารณาปรับใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกที่เต็มไปด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลง” คุณกัณญภัค ให้แนะนำให้แก่ผู้ส่งออกไทยเป็นการส่งท้าย

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ติดตั้งนาฬิกาประจำสถานีกลางบางซื่อ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙
บทความถัดไปเจาะลึกไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของท่าเทียบเรือ ชุด D