Yusen Logistics เดินหน้าเป้าหมายความยั่งยืน มุ่งลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (carbon footprint) ผ่านการขยายกองรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) และก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานรถ EV ที่คลังสินค้า LLC3 จังหวัดชลบุรี พร้อมผลักดันวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

LM มีโอกาสได้พูดคุยกับ Mr. Koichi Hirose รองประธาน และประธานผู้อำนวยการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ, คุณสุวัจชัย เป้าประยูร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายการขนส่งและการจัดการซัพพลายเชน, และคุณพิมาน นวลหงษ์ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มงานคลังสินค้า บริษัท Yusen Logistics (Thailand) เกี่ยวกับการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้า รวมถึงการเปิดสถานีชาร์จพลังงานรถ EV ซึ่งใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคลังสินค้า LLC3 ใน จ.ชลบุรี

Strategic Vision for EV Adoption

Mr. Koichi Hirose

เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัท Yusen Logistics ได้กำหนดแผนการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินการของบริษัท (Scope 1) ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 เพื่อก่อฐานอันแข็งแกร่งสำหรับเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 จนนำมาซึ่งการตัดสินใจลงทุนสั่งซื้อและปฏิบัติการรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า

Mr. Hirose อธิบายเกี่ยวกับที่มาของการลงทุนครั้งนี้ว่า “เราตัดสินใจลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV เนื่องจาก EV ถือเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน ในการก้าวสู่เป้าหมายในการลดคาร์บอนภายในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับโซลูชันอื่นๆ นอกจากนี้ เทรนด์ในอุตสาหกรรมฯ และความคาดหวังของลูกค้า ยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เราหันมาให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าหลายรายมีความต้องการโซลูชันโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Yusen Food Supply Chain ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Yusen Logistics กับบริษัท Ajinomoto ได้มีการลงทุนให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถบรรทุก EV ซึ่งถือเป็นโครงการริเริ่มที่ขับเคลื่อนแนวทางการปรับใช้รถบรรทุก EV ของเราได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านราคาเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศไทยที่มีความผันผวน ราคาน้ำมันที่มักจะผันแปรตามนโยบายของรัฐบาล ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เทคโนโลยี EV ซึ่งใช้พลังงานสะอาด กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการบริหารต้นทุนอีกด้วย

EV Fleet Deployment and Optimization

คุณสุวัจชัย เป้าประยูร

บริษัท Yusen Logistics (Thailand) วางแผนขยายกองรถบรรทุก EV เป็นทั้งหมด 10 คันภายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2024 ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีรถบรรทุก EV ในปฏิบัติการอยู่แล้วจำนวนห้าคัน ให้บริการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมเคมีและยานยนต์เป็นหลัก โดยการปรับใช้รถบรรทุก EV ในระยะแรกเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้รถบรรทุก EV ในการปฏิบัติการโลจิสติกส์

โดยปัจจุบัน Yusen Food Supply Chain ในเครือของ Yusen Logistics (Thailand) ปฏิบัติการขนส่งสินค้าระหว่างโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของ Ajinomoto บนเส้นทางการขนส่งที่กำหนดไว้ พร้อมจัดตารางการชาร์จพลังงานอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และสามารถให้บริการได้ตามความคาดหวังของลูกค้า

คุณสุวัจชัย กล่าวว่า “การลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ Yusen Logistics Group ในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ เราวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถบรรทุก EV อีกห้าคัน ซึ่งจะส่งผลให้ในปีนี้กองรถบรรทุก EV ในปฏิบัติการของเรามีจำนวนทั้งหมด 10 คัน ยิ่งไปกว่านั้น Yusen Logistics (Thailand) ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนรถบรรทุก EV ตลอดสามปีข้างหน้าอีกปีละ 10 คัน รวมเป็นทั้งหมด 40 คัน”

Operational Challenges and Benefits

Yusen Logistics ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการเปลี่ยนการปฏิบัติการขนส่งสินค้าโดยใช้รถบรรทุก EV ขนส่งสินค้า โดยระบุว่าการใช้รถบรรทุก EV ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ของประสิทธิภาพการปฏิบัติการมากนัก บริษัทฯ ยังสามารถให้บริการได้โดยไม่หยุดชะงัก ขณะเดียวกันแม้ว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะลดลง แต่ก็ยังมีประเด็นด้านค่าเสื่อมราคาที่บริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่รถบรรทุก EV ต้องการการซ่อมบำรุงที่น้อยกว่าก็ถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถบรรทุก EV ยังคงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการใช้งานในระยะยาว ทั้งในแง่ของมูลค่าและต้นทุนการจัดการรถและแบตเตอรี่หลังหมดอายุการใช้งาน แต่จากผลการทดสอบและการศึกษาของหลายภาคส่วนในภาพรวมยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี

แม้ว่าในแง่ของการปฏิบัติการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก EV จะยังไม่มีข้อได้เปรียบที่แน่ชัด แต่ Yusen Logistics กลับมองเห็นประโยชน์ทางอ้อมจากการใช้รถ EV ได้อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของผลตอบรับจากลูกค้า และการยกระดับความภาคภูมิใจในองค์กรของพนักงาน เนื่องจากผลการสำรวจภายในของบริษัทฯ พบว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงบวกของการปฏิบัติการรถบรรทุก EV ในแง่ของการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร

“แม้ว่า ณ ตอนนี้เราจะยังไม่เห็นข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการจากการปรับใช้รถบรรทุก EV แต่เราเริ่มเห็นประโยชน์ทางอ้อมมากขึ้น นั่นคือบริษัทฯ ได้รับการกล่าวถึงในเชิงบวก ผลตอบที่ดีจากทั้งลูกค้าและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในหมู่พนักงานของบริษัทฯ ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนในครั้งนี้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมาย ESG ของ Yusen Logistics ได้มากกว่าที่คิด” Mr. Hirose กล่าว

Overcoming Technical Constraints

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกปฏิบัติการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก EV ในระยะเริ่มต้นย่อมมาพร้อมความท้าทาย โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของ Yusen Logistics คือข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้งานจริงและขีดความสามารถในการปฏิบัติการรถบรรทุก EV ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ทำการทดสอบและรวบรวมผลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระยะการวิ่งรถและระดับแบตเตอรี่ในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักแตกต่างกันบนสภาพถนนหลายรูปแบบ ซึ่งการดำเนินการทดสอบเหล่านี้ช่วยให้ Yusen Logistics สามารถปรับกลยุทธ์การปรับใช้รถบรรทุก EV รวมถึงการวางแผนเส้นทางและตารางปฏิบัติการ เพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

คุณสุวัจชัย กล่าวว่า “ในช่วงแรกที่เราเริ่มใช้รถ EV ความท้าทายหลักมักจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เนื่องจากการชาร์จพลังงานแต่ละครั้ง รถบรรทุกจะสามารถปฏิบัติการได้ราว 200-300 กม. ขึ้นอยู่กับน้ำหนักสินค้า สภาพถนน และสภาพการจราจร ดังนั้น เราต้องกลับมาพิจารณาว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งรถแต่ละรอบให้มากที่สุดได้อย่างไร เพราะบางครั้งรถบรรทุก EV สามารถทำรอบได้เพียงหนึ่งรอบครึ่ง แทนที่จะเป็นสองรอบ เนื่องจากรถ EV ต้องมีการหยุดเพื่อชาร์จพลังงานด้วย”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับรถบรรทุกทั่วไปที่สามารถปฏิบัติการได้มากกว่า 500 กม. ต่อวัน (ขึ้นกับชนิดรถบรรทุก) ดังนั้น เราจึงต้องมีการปรับแผนปฏิบัติการให้สอดรับกับข้อจำกัดเหล่านี้ เช่น การกำหนดเส้นทางและจัดตารางชาร์จพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันสถานีชาร์จที่เราใช้ยังมีจำกัด ค่าชาร์จต่อครั้งที่สถานีภายนอกยังคงแพง และในบางเส้นทางไม่มีสถานีชาร์จให้บริการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กำหนดให้เส้นทางบริการด้วยรถบรรทุก EV ของเรายังคงจำกัด”

Innovative Charging Infrastructure

ด้วยเหตุนี้ Yusen Logistics จึงได้ริเริ่มก่อสร้างสถานีชาร์จพลังงานรถบรรทุก EV ขึ้นที่คลังสินค้า LLC3 ของบริษัทฯ ที่ จ. ชลบุรี ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง โดยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งเชิงกลยุทธ์สามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการชาร์จพลังงานของกองรถบรรทุก EV ของ Yusen Logistics พร้อมช่วยลดต้นทุนและลดการพึ่งพาสถานีชาร์จสาธารณะ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าและให้ความสะดวกน้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งสถานีชาร์จที่คลังสินค้า LLC3 ยังสามารถช่วยให้บริษัทฯ ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคลังสินค้า เพื่อนำมาชาร์จพลังงานให้กับรถบรรทุก EV ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดต้นทุนพลังงานและลดอัตราการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

คุณพิมาน นวลหงษ์

โดยสถานีชาร์จพลังงานแห่งใหม่ของ Yusen Logistics สามารถชาร์จรถบรรทุก EV ได้พร้อมกันถึงสองคัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จขึ้นอีกเพื่อตอบรับกับแผนการขยายกองรถบรรทุก EV ในอนาคต

คุณพิมาน กล่าวว่า “แม้ว่าการปฏิบัติการรถบรรทุก EV จะฟังดูเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลคือสถานีชาร์จพลังงานในไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศ (national grid) ซึ่งไม่ได้เป็นพลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรายังคงใช้ถ่านหิน ก๊าซ หรือแหล่งพลังงานสิ้นเปลืองอื่นๆ (non-renewable) จึงส่งผลให้อัตราการปล่อยมลพิษจากการใช้รถ EV ตลอดวงจรไม่ได้สะอาดทั้งหมด ดังนั้น แม้ว่าเราจะลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV แต่เราก็สามารถเคลมอัตราการปล่อยคาร์บอนได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

“เงื่อนไขเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของ Yusen Logistics (Thailand) ในด้านความมุ่งมั่นลดอัตราการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสถานีชาร์จรถบรรทุก EV โดยใช้พลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาคลังสินค้า LLC3 ซึ่งจะทำให้กองรถบรรทุก EV สามารถชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้โดยตรงในช่วงกลางวัน”

คุณพิมาน กล่าวต่อว่า “โครงการริเริ่มนี้สามารถช่วยลดอัตราการปล่อยมลพิษตลอดวงจรได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่เราสามารถชาร์จรถบรรทุกโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดได้โดยตรง แม้ว่าในช่วงกลางคืนเรายังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลัก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเรากำลังวางแผนที่จะเพิ่มสถานีชาร์จในคลังสินค้าอื่นๆ ของเราอีกในอนาคต ควบคู่ไปกับการศึกษาแนวทางการใช้แบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ในการชาร์จพลังงานในช่วงกลางคืนด้วย”

Broader Impact and Future Outlook

โครงการปฏิบัติการรถบรรทุก EV และการก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานของ Yusen Logistics ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโลจิสติสก์ไทยในการเดินหน้าสู่แนวทางความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันกระแสการใช้เทคโนโลยีสีเขียวและแหล่งพลังงานทางเลือกกำลังได้รับความสนใจจากทั่วทั้งอุตสาหกรรมฯ จนทำให้บริษัทฯ ได้เดินหน้าวางกลยุทธ์การดำเนินการ พร้อมได้รับการยอมรับในวงกว้างในฐานะผู้นำด้านโซลูชันโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนและทันสมัย โดย Yusen Logistics คาดว่าการตัดสินใจลงทุนปรับใช้งานรถบรรทุก EV จะสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้บริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ในประเทศไทยหันมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวนี้ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ทั่วทั้งอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันดำเนินการตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัท Yusen Logistics ยังคงคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยี EV ต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยได้ดำเนินการศึกษาอย่างใกล้ชิดและรอบคอบเกี่ยวกับการกำจัดแบตเตอรี่รถ EV ที่หมดอายุการใช้งาน รวมถึงความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล ตลอดจนต้นทุนการจัดการรถบรรทุก EV ที่จะปลดระวางในอนาคต ทั้งนี้ แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะยังจำเป็นต้องมีการติดตามและศึกษาต่อไป แต่การเลือกใช้รถบรรทุก EV ยังถือเป็นโซลูชันที่สามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท Yusen Logistics ยังมุ่งมั่นวางแผนเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้งานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต โดยความมุ่งมั่นเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัท Yusen Logistics ในการลดอัตราการปล่อยคาร์บอน 45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ผ่านกลยุทธ์การปรับใช้รถบรรทุก EV และเทคโนโลยีอื่นๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นโยบายของภาครัฐ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ การปรับใช้กองรถบรรทุก EV ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้าและการลงทุนก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานของ Yusen Logistics ถือเป็นหลักชัยสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนของบริษัทฯ โดยการเดินหน้ารับมือกับทั้งโอกาสและความท้าทายของเทคโนโลยี EV ในครั้งนี้ได้ตอกย้ำความเป็นบริษัทที่มีแนวคิดก้าวหน้าของ Yusen Logistics ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยและในระดับโลกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ทุกคนเห็นว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้CULines เข้าร่วมงาน Global Freight Summit 2024 ใน Dubai
บทความถัดไปCOSCO SHIPPING ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการเติมเชื้อเพลิงเมทานอลให้แก่เรือขนส่งสินค้าเป็นครั้งแรก
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.