เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร. ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมิถุนายน ปี 2024 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.3 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 892,796 ล้านบาท ขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนหดตัว 1.6 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 895,256 ล้านบาท ขยายตัว 5.6 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน ปี 2024 เกินดุลเท่ากับ 218 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาทเท่ากับ 2,489 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-มิถุนายนปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัว 7.4 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-มิถุนายน ขยายตัว 3.1 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,437,480 ล้านบาท ขยายตัว 8.3 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 246,466 ล้านบาท
อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024 ว่าจะมีอัตราเติบโต 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนสิงหาคม ปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ที่จะมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกันและอาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 2) ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐอเมริกาทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งด้านการหยุดการผลิตและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย 3) ต้นทุนค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ยังคงทรงตัวในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณการปรับลดลงในหลายเส้นทางจากการที่การส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาเริ่มเติบโตในอัตราเร่งลดลงจากมาตรการกำแพงภาษีที่มีผลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ทว่า ปัจจัยเฝ้าระวังจากสถานการณ์ในพื้นที่ทะเลแดงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและมีอิทธิพลต่อเส้นทางการขนส่งสินค้าเข้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปยุโรป 4) ปัญหาสินค้าล้นตลาดจากจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลกส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในไทยอีกนัยหนึ่ง รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ 5) การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินการ
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่