TNSC เผย ไวรัสโคโรน่าอาจกระทบส่งออกระยะสั้น

0
2270

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้แถลงข่าวร่วมกับคุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร โดยเผยว่าการส่งออกเดือนธันวาคม ปี 2019 มีมูลค่า 19,154 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหดตัวลง 1.28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 573,426 ล้านบาท หดตัวลง 9.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2019 มีมูลค่า 18,559 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาและการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 563,799 ล้านบาท หดตัวลง 6.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ เดือนธันวาคม 2019 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 596 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9,627 ล้านบาท (การส่งออกเดือนธันวาคม 2019 เมื่อหักทองคำและน้ำมันออก มีการขยายตัวขึ้น 1.2 เปอร์เซ็นต์)  

ภาพรวมของช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม ปี 2019 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 246,245 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลง 2.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,627,663 ล้านบาท หดตัวลง 5.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,640 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลง 4.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่า 7,627,663 ล้านบาท ซึ่งหดตัวลง 5.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม ปี 2019 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,605 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 190,352 ล้านบาท (เมื่อหักทองคำและน้ำมันออก การส่งออกเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2019 หดลง 2.65 เปอร์เซ็นต์)

ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์ว่า การส่งออกของประเทศไทยในปี 2020 จะมีการเติบโตขึ้น 0-1 เปอร์เซ็นต์ บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 มกราคม 2020 เท่ากับ 31.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบ 30.11 – 31.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) โดยยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

โดยปัจจัยสำคัญที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกคือ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอาจได้รับอานิสงส์ จากลูกค้าในประเทศที่จีนหันมานำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อทดแทน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย ก็เป็นโอกาสดีในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการประมาณการซื้อในอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้น การลงนามความตกลง สหรัฐฯ และจีน ในระยะแรก ยังคงมีมุมมองในเชิงบวก ทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศผ่อนคลายมากขึ้น อีกทั้ง การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในช่วงที่ผ่านมา ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในหลายประเทศทั่วโลก ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบได้เช่นกัน โดยการลงทุนและการส่งออกของประเทศไทยในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถส่งสินค้าออกไปยังประเทศจีนได้ ทำให้เกิดสินค้าคงเหลือ เนื่องจากตลาดจีนมีสัดส่วนการส่งออกในปี 2019 กว่า 11.8 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกจากประเทศไทยไปทั่วโลก สรท. จึงประเมินว่าการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสแรกของปี 2020 อาจสูญรายได้หลายพันล้านบาท  

สายการเดินเรือบางสาย ยังเปิดรับจองพื้นที่ระวางสินค้าไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน ยกเว้นเมืองอู่ฮั่น ทว่า ศุลกากรปลายทางยังไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าประเทศจีนได้ ทำให้สินค้ายังคงค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทาง และเมื่อเปิดบริการตามปกติ (คาดว่าหลังวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้) จะมีเรือและสินค้าจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในท่าเรือ ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายพิเศษได้ (Port Congestion Surcharge)  

สำหรับ กรณีค่าเงินบาทแข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการในประเทศเร่งนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อเตรียมการผลิต ทว่า วัตถุดิบบางชนิด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ มะพร้าว หอมหัวใหญ่ และกาแฟ ถูกจำกัดด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้า จึงมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีการผลิตเพียงต่อการส่งออก โดยปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าปีนี้จะส่งผลรุนแรงกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตทางการเกษตร  

ผลกระทบจากการออกมาตรการจำกัดการวิ่งของรถบรรทุกในการเข้าพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก และการห้ามวิ่งรถในวันคี่ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานนั้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการ อาทิ ต้นทุนการขนส่งทางรถบรรทุกเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 ถึง 5,000 บาทต่อเที่ยวขนส่ง ประกอบกับปริมาณรถสะสมจำนวนมากที่จะไปถึงปลายทาง อีกทั้งยังส่งผลต่อการปฏิบัติงานขนส่งและความแออัดในประตูการค้าหลัก (บริเวณรอบท่าเรือและชุมชนรอบโรงงาน)

อีกทั้งความล่าช้าในการผ่านร่าง พรบ.งบประมาณ ปี 2020 ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขาดความต่อเนื่องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาชนอีกด้วย

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Hutchison Ports เตรียมซื้อกิจการ APM Terminals Rotterdam
บทความถัดไปLinfox พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับการปฏิบัติการ