TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนพฤษภาคม 2024 พร้อมคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024

0
68

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร TNSC จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดย TNSC ระบุว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม ปี 2024 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 960,220 ล้านบาท ขยายตัว 15.1 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 6.5 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การน้ำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.7 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 947,007 ล้านบาท ขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม ปี 2024 เกินดุลเท่ากับ 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 13,314 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทยของไทยในเดือนมกราคม-พฤษภาคมในปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,298,248 ล้านบาท ขยายตัว 8.1 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-พฤษภาคม ขยายตัว 4.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว  3.5 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,542,224 ล้านบาท ขยายตัว 8.8 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-พฤษภาคมปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 243,976 ล้านบาท

อนึ่ง TNSC ได้คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024 ว่าจะมีอัตราเติบโต 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนกรกฎาคมปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันและชาติพันธมิตร อาจส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกรวมถึงการค้าระหว่างประเทศของไทย และจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2) ต้นทุนภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ 2.1) ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า 2.2) ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น 3) ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) และค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง และปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าจากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ 4) การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่อง 5) ภาคการผลิตรายสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวค่อนข้างจำกัด

ทั้งนี้ TNSC มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1)ต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อให้การส่งออกของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเล โดยเฉพาะค่าระวางเรือ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2) ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง รวมถึงต้องบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้เหมาะสม 3) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า 4) สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการวางแผนบริหารจัดการ 5) เร่งส่งเสริมกิจกรรม Trade Promotion ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศมีความผันผวน 6) เร่งปรับโครงสร้างการส่งออกของไทยเพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MSC Vietnam ทุบสถิติใหม่ในการขนส่งสินค้าโครงการ
บทความถัดไปSahathai Terminal ต้อนรับเรือขนส่งสินค้าเที่ยวแรกในบริการ YCX ใหม่ของ CMA CGM
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend