เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร.ชัญชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC และคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน ปี 2024
โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 849,069 ล้านบาท หดตัว 0.6 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 ขยายตัว 7 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 867,456.4 ล้านบาท หดตัว 7.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปเงินบาทเท่ากับ 18,378.1 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,695,455 ล้านบาท ขยายตัว 7.3 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ขยายตัว 4.9 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.7 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,032,550 ล้านบาท ขยายตัว 7.8 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาทเท่ากับ 337,096 ล้านบาท
อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยปรับการคาดการณ์ส่งออกปี 2024 เติบโต 5 เปอร์เซ็นต์ และประมาณการณ์ว่าการส่งออกปี 2025 จะเติบโต 1-3 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนมกราคม ปี 2025) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) สงครามการค้า Trump 2.0 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีความร้อนแรงและมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และแนวทางการลดและยกเลิกความเข้มงวดของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ 2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ ประเด็นการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ 3) ค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายใน รวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 4) ต้นทุนของผู้ส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงงานซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง และทิศทางราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานในตลาดโลกที่มีความผันผวนจากความเสี่ยงหลายประการ และ 5) สถานการณ์การขนส่งสินค้าทางทะเลที่ค่าพื้นที่ระวางสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นจากการเร่งส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาทะเลแดงที่ยังส่งอิทธิพลต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1) ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกระทรวงพาณิชย์ (กรอ. พณ.) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนทางการค้าระหว่างประเทศ 2) เพิ่มงบประมาณด้านกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และบรรลุเป้าหมายการส่งออก 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2025
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่