TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนกรกฎาคม 2024 พร้อมคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024

0
710

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคมปี 2024 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 938,285 ล้านบาท ขยายตัว 21.8 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัว 9.3 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 999,755 ล้านบาท ขยายตัว 19.4 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาทเท่ากับ 61,470 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัว 3.8 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-กรกฎาคม ขยายตัว 4 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 307,935 ล้านบาท

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2024 ว่าจะมีอัตราเติบโต 1-2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนกันยายน ปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันที่ลดลงของผู้ประกอบการภายในประเทศ 2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ การตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และแคนาดา ส่งผลให้สินค้าจีนไหลกลับมายังตลาดเอเชีย และสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ 3) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล ได้แก่ 3.1) การที่สหภาพแรงงานทั่วประเทศของสหรัฐอเมริกายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หยุดการผลิตและกระทบซัพพลายเชนในภาคการผลิต และการให้บริการในท่าเรือฝั่งตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในภาพรวมและปริมาณการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา 3.2) ค่าระวางเรือที่ยังคงตึงตัวและผันผวนในท่าเรือหลัก ขณะที่เส้นทางภายในเอเชียและตะวันออกกลางมีค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง แต่ในเส้นทางภายในสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย กลับยังคงทรงตัวในระดับสูง 3.3) ปัญหาสภาพตู้ขนส่งสินค้าที่สายการเดินเรือส่งมอบให้บรรจุสินค้าต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ส่งออก  และ 4) การเข้าถึงและการตัดวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญในหลายประเด็น ดังนี้

ในด้านโครงสร้าง รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และมีศักยภาพด้านการแข่งขันในระดับสากล และเพื่อพัฒนาการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างมั่น ซึ่งในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 30 ปี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation) เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินการร่วมกัน

ในด้านโลจิสติกส์ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบังที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาที่ยังไม่ได้รับการบรรเทาลงส่งผลต่อต้นทุนที่ผู้นำเข้า-ส่งออกต้องแบกรับ รวมถึงศักยภาพการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้หารือและมีข้อสรุปว่าประเด็นดังกล่าวมีปัญหาหลักมาจากข้อจำกัดของผู้นำเข้า-ส่งออก ข้อจำกัดของการขนส่งด้วยเรือชายฝั่ง ข้อจำกัดของการขนส่งทาง โครงสร้างพื้นฐานและระบบการจราจรในท่าเรือ และความแออัดของท่าเทียบเรือสัมปทาน โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุม ทั้งในด้านการขับเคลื่อนระดับนโยบาย อาทิ การตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงคณะทำงานร่วมระดับปฏิบัติการท่าเรือแหลมฉบัง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาลานวางตู้สินค้ากลาง พื้นที่บริการ และพื้นที่พักตู้สินค้า ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและทางทะเลภายในประเทศ การปรับปรุงวิศวกรรมการจราจร และการเพิ่มการลงทุนในอุปกรณ์ยกขนสินค้า ด้านกระบวนการทำงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การบังคับใช้ระบบ Truck Queue อย่างเต็มรูปแบบเพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับระบบ Port Community System (PCS) ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ อาทิ การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและปล่อยสินค้า และการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปรับปรุงสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และด้านอื่นๆ อาทิ การตั้งหน่วยงานกำกับดูแลและวางมาตรฐานการให้บริการของลานตู้สินค้า รวมถึงการให้บริการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกหนักก่อนออกจากท่าเรือ โดยเบื้องต้น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้ผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปยังหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

ในด้านการเงิน รัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อให้การส่งออกของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ อาทิ ต้นทุนพลังงานและราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเล โดยเฉพาะค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องกำกับดูแลสินค้าจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้เอื้อประโยชน์ต่อซัพพลายเชนในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยควรมองถึงการรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine: ICE) ในฐานะอุตสาหกรรมที่ยังมีศักยภาพ ขับเคลื่อนตลาดหลังการขาย เนื่องจากเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และมีศักยภาพในการผลักดันกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่าน และประยุกต์ชิ้นส่วนไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ การขนส่งทางราง เครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมการเกษตร

และในด้านการตลาดและอีคอมเมิร์ช รัฐบาลต้องกำกับดูแลสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาการจ้างงานที่ลดลงด้วย


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้COSCO SHIPPING พัฒนาระบบนิเวศอัจฉริยะใหม่ ยกระดับการเชื่อมโยงข้อมูล
บทความถัดไปDP World เข้าซื้อกิจการ Cargo Services ขยายฐานธุรกิจโลจิสติกส์สินค้าค้าปลีกและแฟชั่น
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend