เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) และคุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ ร่วมกับคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร แถลงข่าวการส่งออกประจำเดือนตุลาคม 2020 มีมูลค่า 19,376 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหดตัวลง 6.71 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 600,335 ล้านบาท หดตัว 4.51 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนตุลาคม 2020 มีมูลค่า 17,330 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 544,197 ล้านบาท หดตัว 12.37 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนตุลาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,046 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 56,138 ล้านบาท โดยการส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย ในเดือนตุลาคม มีการหดตัว 4.89 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ภาพรวมช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2020 การส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่ารวม 192,372 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.26 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 5,987,376 ล้านบาท หดตัว 7.38 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 169,702 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.61 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,350,086 ล้านบาท ซึ่งหดตัว 14.87 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 22,670 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 637,290 ล้านบาท โดยเมื่อหักมูลค่าทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกของเดือนมกราคม ถึงตุลาคม 2020 หดตัว 8.47 เปอร์เซ็นต์
อนึ่ง TNSC ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 หดตัวลดลงระหว่าง 7 เปอร์เซ็นต์ ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์การเติบโตในปี 2021 (ณ เดือนธันวาคม 2020) ที่ 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญในปี 2021 คือ ประเทศไทยร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันถึง 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ครอบคลุมผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ (GDP) ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 28 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ส่งออก
อีกทั้ง ความคืบหน้าด้านการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 จากหลายบริษัท ก็เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการเจรจาการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมา พร้อมกันนั้น สินค้ากลุ่มอาหาร กลุ่มเวชภัณฑ์และสินค้าทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้าสำหรับการทำงานที่บ้าน ก็ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในบางประเทศที่ยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร
ระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2020 เนื่องด้วยสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าทางการพัฒนาวัคซีน COVID-19 และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้มีอุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศจีน เนื่องด้วยสถานการณ์การควบคุมการระบาดของ COVID-19 อย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและสร้างผลดีต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติก
ในขณะเดียวกัน TNSC ยังระบุปัจจัยเชิงลบที่อาจสร้างอุปสรรคในปี 2021 อาทิ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากการแข็งค่าตามทิศทางของสกุลเงินในเอเชีย ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม และผลจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรี EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) เป็นปัจจัยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตเพื่อการกระจายความเสี่ยงหลังจากนานาประเทศประสบปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
นอกจากนี้ ไทยยังมีต้นทุนแฝงในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากกฎระเบียบของประเทศไทยที่มีความล้าหลัง และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่อาจมีการเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2021 เช่นมาตรการ Carbon Border Adjustment Taxation เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการธุรกิจ รวมถึงหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อกระตุ้นการใช้พลังงานสะอาด
TNSC จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้ 1) เร่งแก้ไขสถานการณ์ตู้สินค้าขาดแคลน และการปรับขึ้นค่าระวางทุกเส้นทาง 2) เนื่องจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางค่าเงินเหรียญสหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า TNSCร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
3) เร่งปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมเพื่อลดต้นทุนแฝงในการส่งออก ทั้งด้านการผลิต ด้านการส่งออก (การตลาด การขออนุญาตส่งออก/นำเข้าตามพิธีการศุลกากร) ด้านการเงินและภาษีอากร ด้านการขนส่งระหว่างประเทศ (เรือ ราง อากาศ รถ) อันจะส่งผลกระทบและขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการตลอดทั้งซัพพลายเชน
และ 4) เร่งพัฒนาระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (NSW) ให้เป็นระบบ Single Submission เพื่อเป็นการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการศุลกากร และจะต้องมีการจัดทำ การประสานข้อมูล (Data Harmonization) ใหม่ เพื่อรองรับการส่งข้อมูล ขาเข้า/ขาออก ณ จุดเดียว และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรอง
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่