TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนสิงหาคม 2024 เชื่อมั่นส่งออกไทยปี 2024 โตไม่น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

0
487

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคมปี 2024 เทียบกับเดือนดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 939,521 ล้านบาท ขยายตัว 13 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัว 6.6 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 941,019 ล้านบาท ขยายตัว 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2024 เกินดุลเท่ากับ 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 1,497 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2024 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-สิงหาคม ขยายตัว 4.3 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัว 10.5 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 6,351 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 309,432 ล้านบาท

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยปี 2024 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนตุลาคม ปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงสุดท้ายของปี ได้แก่ 1)ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ จึงส่งผลต่อสภาพคล่องทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงคาดการณ์ได้ยาก ได้แก่ สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ สถานการณ์เลือกตั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจส่งผลต่อการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลกจนเกิดความผันผวน และมาตรการ safeguard ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้กับสินค้าประเภทยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และจะใช้กับสินค้าประเภทถุงมือยาง ชิพ และอื่นๆ ในปี 2025 ซึ่งส่งผลให้จีนต้องเร่งกระจายสินค้าไปยังตลาดเอเชียและตลาดใหม่ๆ ที่ยังมีศักยภาพ 3) ดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PM) ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีอุปสงค์อยู่ 4) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากค่าระวางเรือยังคงมีการปรับลดลงในหลายเส้นทางสำคัญ แต่เป็นการปรับลดลงจากที่ปรับขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้ เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาทะเลแดง ยกเว้นเส้นทางสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากปัญหาการประท้วงของพนักงานในท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและตะวันตกส่งผลให้การเดินเรือล่าช้า และ 5) ปัญหาอุทกภัยทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมากและส่งผลอย่างต่อเนื่องถึงต้นทุนวัตถุดิบและปริมาณสินค้าการเกษตรที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอในระยะถัดไป

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมสนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3) พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากเกินไป และ 4) เร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้า


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้JJ Shipping จัดพิธีฉลองการเดินเรือ Mild Rose เที่ยวปฐมฤกษ์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
บทความถัดไปCONNECT GROUP ร่วมบริจาคข้าวสารแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ 16.7 ตัน ผ่านมูลนิธิองค์กรทำดี
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend