เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร แถลงข่าวการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2020
โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2020 มีมูลค่า 18,932 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.65 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 585,911 ล้านบาท หดตัว 0.65 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2020 มีมูลค่า 18,880 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 592,369 ล้านบาท หดตัว 1.98 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนพฤศจิกายน 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6,458 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนพฤศจิกายนหดตัว 2.09 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2020 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,385 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.92เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 6,575,690 ล้านบาท หดตัว 6.78เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 13.74 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,920,305 ล้านบาท หดตัว 13.76 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 23,512 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 655,384 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนพฤศจิกายนหดตัว 7.84 เปอร์เซ็นต์
การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และสินค้ากลุ่มที่หดตัว คือ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
ทั้งนี้ การส่งออก 11 เดือน แรกของปี 2020 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 6.6 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ TNSC คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 หดตัวลดลงระหว่าง 6 – 7 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์ ปี 2021 เติบโตระหว่าง 3 – 4 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือน ม.ค. 2021) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2021 ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2021 ได้แก่ 1) การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ 2) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร 3) ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และ 4) ราคาน้ำมันที่อาจมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2019
โดยในกรณีปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน TNSC มีข้อเสนอแนะได้แก่ 1. เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ 2. ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย 3. มีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น 4. อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร 5. ตรวจสอบปริมาณตู้สินค้าเปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่