TNSC แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม ปี 2022 หวังสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน คลี่คลายอย่างรวดเร็ว

0
1351

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา คุณชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน แถลงข่าวการส่งออกประจำเดือนมกราคม ปี 2022 เผย TNSC ได้ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

โดย TNSC ประเมินในเบื้องต้นว่าหากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายไปมากกว่านี้ และสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายในสามเดือน การส่งออกของไทย ปี 2022 คาดว่าจะยังเติบโตได้ที่ 5 เปอร์เซนต์ โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ 7-8 เปอร์เซนต์ เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.38 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไปยูเครนในปี 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.05 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และ TNSC คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ในด้านของปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งส่งผลต่อหลายปัจจัยที่สำคัญทั้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม 2) ค่าเงินบาทมีความผันผวนไปในทิศทางแข็งค่า 3) แรงงานภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง 4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ‘โอมิครอน’ และ 5) ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหาค่าระวางเรือทรงตัวในระดับสูง Space allocation ไม่เพียงพอ

โดย TNSC ได้ให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) ขอให้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 2) ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น 3) เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดเพิ่มเติมทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท และ 4)  ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Sino Logistics Corporation เปิดคลังสินค้าใหม่ รุกตลาดโลจิสติกส์ครบวงจร
บทความถัดไปTHE Alliance ประกาศปรับโครงสร้างการบริการสำหรับปี 2022
Thanapond Sukonthachart
Bo is a curious and eager learner with a passion for exploring the world. While she writes about the logistics sector, she also has a wide array of interests spanning science, public health, language, culture, and more. A bit of a foodie and always smiling, Bo brings enthusiasm and a broad perspective to her writing.