TNSC เผยยอดส่งออก ส.ค. หดตัว 7.94 เปอร์เซ็นต์

0
1022

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน คุณจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร แถลงข่าวการส่งออกเดือนสิงหาคม 2020

โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2020 มีมูลค่า 20,212 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.94 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 635,219  ล้านบาท หดตัว 5.43 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่การนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2020 มีมูลค่า 15,862 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 19.68 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 505,383 ล้านบาท หดตัว 17.54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนสิงหาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 4,349 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 129,836 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนสิงหาคมหดตัว 14.11 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2020 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 153,374 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 4,777,201 ล้านบาท หดตัว 8.34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 134,981 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 15.31 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 4,257,868 ล้านบาท หดตัว 16.02 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน มกราคมถึงสิงหาคม 2020 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 18,393 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 519,332 ล้านบาท โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนมกราคมถึงสิงหาคมหดตัว 9.68 เปอร์เซ็นต์

การส่งออกในเดือนสิงหาคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 13.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีคือ น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ยางพารา ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และข้าว

ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 6.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ถุงมือยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ                   

ทั้งนี้ TNSC คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2020 หดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ (ณ ตุลาคม 2020) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ อุปสงค์ทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจในหลายส่วนเริ่มมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีค่าเกิน 50 (ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019) ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิต ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสินค้าทั่วโลกที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่  ส่งผลให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโรค

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำในปัจจุบัน 2) ค่าเงินบาทที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 3) โลจิสติกส์ระหว่างประเทศมีค่าระวางสูง โดยเฉพาะในเส้นทางการค้า Trans-Pacific และออสเตรเลีย การขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าและระวางสินค้าที่ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของผู้ประกอบการ และระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง 4) ปัญหาภัยแล้ง และ 5) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เนื่องด้วยแรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถเข้ามาประเทศไทยได้ ทำให้กระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของภาคส่งออกและอุตสาหกรรม


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้สหไทย เทอร์มินอล เปิดบ้านต้อนรับตัวแทนจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
บทความถัดไปกทท. ต่อสัญญาร่วมลงทุนเอกชนท่าเทียบเรือตู้สินค้า บี 3 ทลฉ.
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.