ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างคาดหวังว่าการนำระบบดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานจะช่วยยกระดับรูปแบบการทำงานภายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีความซับซ้อน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดวิกฤตที่มนุษยชาติไม่เคยประสบมาก่อน นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมและการทำงานจากบ้านถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน รวมไปถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งวิกฤตการณ์เหล่านี้เองได้ช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้เกิดเร็วขึ้น
เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป TIFFA EDI ผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จึงนำแพลตฟอร์ม CODEX e-D/O เข้ามาเปิดให้บริการแก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
LM จึงถือโอกาสนี้ในการพูดคุยกับคุณพัชรี ลาภนิติมงคล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจาก TIFFA EDI เพื่อทำความรู้จักกับแพลตฟอร์ม CODEX e-D/O และผลประโยชน์ที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยจะได้รับจากการใช้งานแพลตฟอร์มนี้
What is CODEX
CODEX e-D/O เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาโดย Kale Logistics ผู้ให้บริการโซลูชั่นไอทีชั้นนำที่มุ่งเน้นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้กระบวนการปล่อยสินค้าสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order) ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง TIFFA EDI ได้ทำงานร่วมกับ Kale Logistics ในการนำแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ามาใช้งานในประเทศไทยในช่วงที่วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย
คุณพัชรี กล่าวว่า “TIFFA EDI ได้มีการวางแผนนำระบบ CODEX e-D/O เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งก่อนจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 กระบวนการทำงานในธุรกิจโลจิสติกส์ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทำงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในหมู่พนักงานระดับปฏิบัติการ เราจึงเร่งนำระบบ CODEX e-D/O เข้ามาเพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปลอดภัยยิ่งขึ้น ท่ามกลางวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง”
“แพลตฟอร์ม CODEX e-D/O คือการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลต้นน้ำ ที่ผู้ประกอบการสายการเดินเรือและตัวแทนสายการเดินเรือนำส่งข้อมูล e-Manifest ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบ National Single Window (NSW)”
“แพลตฟอร์ม CODEX e-D/O คือการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลต้นน้ำ ที่ผู้ประกอบการสายการเดินเรือและตัวแทนสายการเดินเรือนำส่งข้อมูล e-Manifest ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบ National Single Window (NSW) เดินทางสู่ปลายน้ำสร้างใบสั่งปล่อยสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยลูกค้าที่ใช้บริการ CODEX e-D/O สามารถทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ หรือผ่าน Mobile Application ของ CODEX บนสมาร์ทโฟนได้ทันที”
โดยปัจจุบัน ลูกค้าของเราประกอบไปด้วยสายการเดินเรือชั้นนำในเอเชียและระดับโลก รวมไปถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อีกมากมาย
Challenge in D/O Digitalization in Thailand
อย่างที่เราทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงานและกฎระเบียบจากภาครัฐ ทำให้ความพยายามในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาใช้งานต้องเผชิญกับความท้าทายจากความซับซ้อนเหล่านั้น
“การนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาใช้งานในประเทศทำให้เราต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง ประเด็นแรก เนื่องจากว่ากระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีความซับซ้อน และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ระบบ e-Manifest ของกรมศุลกากร หรือกระบวนการขอแยกใบสั่งปล่อยสินค้าจากใบสั่งปล่อยสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (LCL /Consolidated Shipment) ทำให้เราและ Kale Logistics ต้องทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษากระบวนการทำงานต่างๆ อย่างละเอียด และปรับแต่ง CODEX e-D/O ให้สามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย
“นอกจากในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถใช้งานในประเทศไทยได้แล้ว อีกหนึ่งความท้าทายในการผลักดันให้แพลตฟอร์มดิจิทัลประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในฝั่งของท่าเทียบเรือ ตัวแทนผู้ขนส่งสินค้า หรือผู้นำเข้า แต่ด้วยความร่วมมือและแรงผลักดันจากสายการเดินเรือ ในฐานะเจ้าของใบสั่งปล่อยสินค้าและผู้บุกเบิกใช้งานแพลตฟอร์ม CODEX e-D/O ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี” คุณพัชรี กล่าว
Benefit of CODEX e-D/O
การยกระดับการทำงานให้เป็นระบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม CODEX e-D/O มอบสิทธิประโยชน์มากมายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นสายการเดินเรือ ผู้นำเข้า ผู้ขนส่งสินค้า ตัวแทนดำเนินพิธีศุลกากร หรือท่าเทียบเรือ โดยจะช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการให้มีความถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
คุณพัชรีกล่าวว่า “โดยปกติแล้วการแลก/รับใบสั่งปล่อยสินค้าจะต้องใช้เอกสารประกอบจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นใบตราส่งสินค้าทางทะเล (B/L) จดหมายขอแลกใบสั่งปล่อยสินค้า เอกสารแสดงการชำระเงิน รวมถึงเอกสารอื่นๆ ซึ่งในแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนไปแลกเอกสารที่เคาน์เตอร์ของสายการเดินเรือ และหากเป็นสายการเดินเรือใหญ่ๆ ซึ่งมีตู้สินค้าจำนวนมาก กระบวนการเหล่านี้ก็อาจจะใช้เวลานานหลายชั่วโมง”
“เมื่อเปลี่ยนมาดำเนินกระบวนการผ่านแพลตฟอร์ม CODEX e-D/O ผู้นำเข้าหรือตัวแทนขนส่งสินค้าสามารถยื่นคำร้องขอใบสั่งปล่อยสินค้าได้ล่วงหน้า รวมถึงชำระหรือส่งเอกสารยืนยันการชำระค่าภาระต่างๆ ผ่านทาง CODEX e-D/O ซึ่งเมื่อสายการเดินเรือตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถออกใบสั่งปล่อยสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที โดยที่ผู้นำเข้าหรือตัวแทนขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปแลกใบสั่งปล่อยสินค้าที่เคาน์เตอร์ของสายการเดินเรืออีกต่อไป”
“นอกจากนี้แพลตฟอร์ม CODEX e-D/O ยังช่วยยกระดับการสื่อสารระหว่างสายการเดินเรือและท่าเทียบเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอดีตหากใบสั่งปล่อยสินค้ามีปัญหาหรือมีการแก้ไข ทางสายการเดินเรือต้องประสานงานกับท่าเทียบเรือผ่านช่องทางการสื่อสารแบบดั้งเดิม ซึ่งเกิดการตกหล่นหรือผิดพลาดได้ง่าย ทำให้เกิดปัญหาในการปล่อยตู้สินค้า”
“แพลตฟอร์ม CODEX e-D/O ทำให้สายการเดินเรือสามารถปรับแก้ เปลี่ยนแปลง หรือระงับใบสั่งปล่อยสินค้าได้อย่างอิสระ”
“แพลตฟอร์ม CODEX e-D/O ทำให้สายการเดินเรือสามารถปรับแก้ เปลี่ยนแปลง หรือระงับใบสั่งปล่อยสินค้าได้อย่างอิสระ และเมื่อมีการปรับแก้ ท่าเทียบเรือก็จะได้รับข้อมูลในทันที ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสายการเดินเรือและท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
Into the future
CODEX e-D/O นับเป็นอีกย่างก้าวที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย อย่างไรก็ตาม ในอนาคต TIFFA EDI ได้วางแผนในการยกระดับฟีเจอร์ของ CODEX e-D/O เอาไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรองรับการชำระอากรสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Duty Stamp) รองรับใบหักภาษี ณ ที่จ่ายรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) รวมไปถึงบริการขอใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ความตั้งใจทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของ TIFFA EDI ในการมอบโซลูชันดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่