การรถไฟแห่งประเทศไทย (SRT) พัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม มูลค่า 67,966 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อภาคอีสานตอนกลาง และเชื่อมโยงระเบียงการค้าแนวตะวันตก-ตะวันออกตอนบนเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2021 และเปิดใช้งานในปี 2025
คุณวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2019 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนมนั้น
โดยทางการรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ออกแบบรายละเอียดของโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ให้ได้ตามแผนภายในปี 2020 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2021 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนมกราคม 2025
“โครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นรถไฟสายใหม่ และสายแรกที่เปิดให้บริการสู่อีสานตอนกลาง ซึ่งยังไม่เคยมีรถไฟเข้าถึงมาก่อน โดยเมื่อก่อสร้างเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟทางคู่กับสายจังหวัดตาก และขอนแก่น ทำให้เป็นเส้นทางเชื่อมจากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์”
นอกจากนี้ ยังรองรับการพัฒนาระเบียงการค้าแนวตะวันตก-ตะวันออกตอนบน ซึ่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนาม อีกทั้งยังมีเส้นทางพาดผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สองแห่ง ที่จังหวัดมุกดาหารและนครพนม และประเมินว่าเมื่อเปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารใช้บริการช่วงแรก 3,835,260 คน และเพิ่มเป็น 8,311,050 คน ในปี 2056 ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าจะเริ่มต้น 747,453 ตัน และเพิ่มเป็น 1,068,170 ตัน ในปี 2056
คุณวรวุฒิกล่าวว่า การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม มีกรอบดำเนินการทั้งหมดแปดปี (ปีงบประมาณ 2018 – 2025) มีระยะทางก่อสร้าง 355 กิโลเมตร โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ทั้งหมดสองทาง บางส่วนสร้างเป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ พาดผ่านทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ หกจังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม
ขณะเดียวกัน มีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ 30 สถานี หนึ่งชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้าสามแห่ง และย่านกองตู้สินค้าสามแห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ พร้อมทั้งมีการสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง และก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาดหนึ่งเมตรเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่