จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียานยนต์และความตื่นตัวด้านการประหยัดพลังงาน ทำให้ปัจจุบันผู้คนต่างหันมาให้ความสนใจเลือกใช้งานยานพาหนะพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles) แน่นอนว่าเมื่อการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขการขนส่งสินค้าทางทะเลสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น หลายฝ่ายในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลจึงให้ความสนใจว่าสายการเดินเรือจะมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างเพื่อรองรับทิศทางการเติบโตนี้
แม้ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจะยังคงมีราคาสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปหรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันแต่ผู้คนจำนวนมากก็ตัดสินใจที่จะเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานด้วยเหตุผลหลายประการ เนื่องจากรถยนต์เหล่านี้สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าและจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ จึงทำให้ในระยะยาวเจ้าของรถสามารถประหยัดค่าน้ำมันลงไปได้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีการใช้งานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณความจุพลังงานสูงเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและเดินทางได้ในระยะไกลขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า หากในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าถูกนำมาใช้งานบนท้องถนนมากขึ้น การขนส่งรถยนต์เหล่านี้ผ่านเรือ Ro-Ro จะมีข้อจำกัดหรือความแตกต่างจากการขนส่งรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันหรือไม่ และสายการเดินเรือฯ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับนวัตกรรมใหม่นี้อย่างไร
LM พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้ายานยนต์ทางทะเล อาทิ คุณภูมิสิทธิ์ ขุนสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการพาณิชย์ ประจำประเทศไทย Mr. Gur Prasad Kohli รองประธาน และหัวหน้าฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ บริษัท Wallenius Wilhelmsen Ocean และ Mr. Yusuke Sasada ประธาน บริษัท NYK RORO (Thailand) เกี่ยวกับแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นี้
On The Rise
ทุกวันนี้นวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันในหลายประเทศมีเปอร์เซ็นต์การใช้งานรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างก็เริ่มประกาศแผนสนับสนุนการผลิต จัดจำหน่าย และใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือส่วนลดพิเศษที่นำเสนอให้กับผู้ซื้อรถ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้จัดจำหน่าย เพื่อกระตุ้นให้มีการผลิตและใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
“ปัจจุบัน แม้ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการขนส่งผ่านเรือ Ro-Ro จะยังไม่ใช่สินค้าหลักแต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มการเติบโตทั้งด้านการใช้งานและการขนส่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเส้นทางการค้าจากทวีปอเมริกาเหนือไปยังยุโรป เช่น การขนส่งรถยนต์ไฟฟ้าไปยังประเทศนอร์เวย์ ในจำนวนรถยนต์ใหม่นำเข้า มีสัดส่วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 46 เปอร์เซ็นต์” คุณภูมิสิทธิ์กล่าว
แม้นอร์เวย์จะเป็นประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป แต่หากวัดเป็นจำนวนคันรถ ประเทศที่มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากที่สุดในปัจจุบันคือ ประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา หากแต่ประเทศเหล่านี้มีการผลิตและจัดจำหน่ายหลักภายในประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันรูปแบบการขนส่งรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นการขนส่งทางบกหรือทางรางมากกว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกเช่นเดียวกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสายการเดินเรือขนส่งสินค้ายานยนต์ชั้นนำหลายแห่งจึงเร่งเดินหน้าเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเติบโตนี้ ทั้งการศึกษาความเป็นไปต่างๆ ความท้าทายใหม่ๆ และการเตรียมแผนเพื่อปรับแนวทางการจัดการขนส่งสำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้โดยเฉพาะ
Mr. Sasada กล่าวว่า “จากประสบการณ์ในการให้บริการขนส่งรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา เรายังไม่พบปัญหาใดๆ ในการจัดการและขนส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อีกทั้ง ทุกวันนี้รถยนต์ประเภทนี้ยังไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอันตรายหากมีการขนส่งผ่านเรือ Ro-Ro แต่เมื่อรถยนต์เหล่านี้บรรจุในตู้สินค้าและขนส่งบนเรือขนส่งสินค้าจะถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าอันตรายทันที อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต เรามีชิปเมนท์สินค้าที่เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปริมาณมากขึ้น เราอาจจะต้องมีการเตรียมการเพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติการที่เหมาะสมที่สุดต่อไป”
ขณะเดียวกัน Mr. Kohli ระบุว่าจากแนวโน้มของปริมาณสินค้าชนิดนี้ที่กำลังเติบโตขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตื่นตัวและเล็งเห็นว่าการเตรียมความ พร้อมและศึกษาเพื่อวางมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติการเป็นเรื่องที่จำเป็น “แม้ปัจจุบันสินค้ายังมีจำนวนในการขนส่งไม่สูงนัก การจัดการสินค้ายังคงได้รับการดูแล จัดการ และให้บริการภายใต้ข้อกำหนดเดียวกันกับรถยนต์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมฯ ได้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตการขนส่งรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายตัวและมีปริมาณสินค้ามากขึ้น ดังนั้น เราจึงได้ริเริ่มทำการวิจัยร่วมกับทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำและบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM เพื่อศึกษาว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่บริษัทผู้ผลิตจะนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ามีอะไรบ้าง การขนส่งสินค้าเทคโนโลยีใหม่นี้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง รวมถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการเติบโตนี้ให้มากที่สุด”
Powering an Industry
ขณะที่การขนส่งสินค้ายานยนต์ทั่วไปได้มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติการไว้อย่างชัดเจน แต่ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้ายังเป็นกลุ่มสินค้ายานยนต์ที่ยังไม่ได้รับการกำหนดมาตรฐานการ ขนส่งโดยเฉพาะ ดังนั้น สายการเดินเรือผู้ให้บริการ เรือ Ro-Ro จึงเริ่มเตรียมการเพื่อรับมือกับกระแสการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้านี้ในขณะที่ปริมาณสินค้ายังคงไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการศึกษาและหารือเกี่ยวกับแนวทางการขนส่งที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย ทั้งข้อมูลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และระดับแบตเตอรี่คงเหลือที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการขับรถยนต์ขึ้น-ลง จากเรือ และยังเป็นการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในการขนส่งด้วย
“สิ่งที่เรากำลังให้ความสนใจก็คือ ปริมาณแบตเตอรี่คงเหลือในรถยนต์ที่เหมาะสมที่สุดควรอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรถยนต์ทั่วไปเรามีการกำหนด ระดับแบตเตอรี่คงเหลือให้น้อยที่สุด ในระดับที่สามารถขับรถขึ้น-ลง ได้ ภายในระยะเวลาขนส่งที่กำหนด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะหากชิปเมนท์ขนส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีรถยนต์จำนวนนับพันคัน และทุกคันมีปริมาณแบตเตอรี่เต็มร้อย จะถือเป็นการขนส่งที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากมีเหตุผิดพลาดใดๆ ที่ทำให้แบตเตอรี่เกิดการทำงานตลอดเวลา จนมีความร้อนสูงจนเกินไป และอาจเกิดการระเบิดขึ้น จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งสินค้า เรือ และบุคลากรที่ปฏิบัติการบนเรือได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันหาข้อสรุปร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าระดับแบตเตอรี่ของรถยนต์แต่ละคันที่ทำการขนส่งควรอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งรถยนต์แบบใช้พลังงานน้ำมันโดยทั่วไป จะมีการกำหนดปริมาณน้ำมันในถังจากโรงงานให้อยู่ที่ประมาณ 7-10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนขึ้น-ลงเรือเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำมันเชื้อเพลิง” Mr. Kohli กล่าว
Plan for Stability
โดยทั่วไปแล้วรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีการใช้งานแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถยนต์ทั่วไป เพื่อให้สามารถกักเก็บพลังงานได้มากที่สุด จึงส่งผลให้น้ำหนักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหนักถึง 1.8 ตันต่อคัน ซึ่งหนักกว่ารถยนต์ทั่วไปที่มีน้ำหนักเฉลี่ยราว 1.3 ตัน
“จากน้ำหนักเฉลี่ยของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้สายการเดินเรือต้องมีการเตรียมแผนการจัดวางหรือจอดรถยนต์ไฟฟ้าบนเรือ Ro-Ro ใหม่ เนื่องจากการขนส่งสินค้าด้วยเรือ Ro-Ro โดยทั่วไป เราจะจัดวางหรือจอดสินค้าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากที่สุดไว้ในชั้นล่าง และชั้นบนขึ้นไปก็จะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักเบากว่า ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในการเดินเรือ อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่เองต่างก็เร่งศึกษาและวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น ขณะที่มีน้ำหนักลดน้อยลง ซึ่งเราต้องเฝ้าติดตามและศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป” คุณภูมิสิทธิ์ กล่าว
Charging Infrastructure
ปัจจุบัน การผลิตและการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคล้วนมีแนวโน้มการเติบโตไปในทางบวก สิ่งที่ยังทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ก็คือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อย่าง สถานีชาร์จพลังงาน เพราะ ผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าย่อมต้องการความมั่นใจว่าพวกเขาจะมีสถานีชาร์จพลังงานที่ครอบคลุมในทุกเส้นทาง และปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางทางจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น สถานีชาร์จพลังงานจึงถือเป็นปัจจัยที่มีผลสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออัตราการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
“เท่าที่เราสังเกตการณ์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เราเชื่อว่าในอนาคตจะมีการใช้งานรถยนต์รูปแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อย่าง สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคงเป็นการใช้งานรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น จากนั้นจึงจะค่อยๆ ขยายไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่วนจะเร็วหรือช้าแค่ไหนน่าจะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ว่าจะดำเนินการพัฒนาสถานีชาร์จพลังงานเพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงโครงการกระตุ้นการเติบโตของรถยนต์ประเภทนี้จากภาครัฐในแต่ละประเทศที่เสนอให้กับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายด้วย” Mr. Sasada กล่าว
จากแนวโน้มการเติบโตของการผลิต และจัดจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เรามองเห็นเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังเห็นถึงการ เตรียมความพร้อมของทุกๆ ภาคส่วนเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการต่อยอดการเติบโตในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะการที่ธุรกิจมีข้อมูลเชิงลึก มีเครื่องมือวิเคราะห์ที่ดี มีการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และมีการสร้างมาตรฐานที่ดี จะสามารถบ่งชี้อนาคตของธุรกิจได้ว่าในอนาคตพวกเขาจะเติบโตไปในทิศทางใด
Published on Logistic Manager (LM) magazine: 1st August 2018
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่